xs
xsm
sm
md
lg

เผย 3 คำฮิต “ขยันเรียน-วินัย-คุณธรรม” ใช้ในคำขวัญวันเด็กมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอสุริยเดว” เผยผลวิเคราะห์คำขวัญวันเด็ก ตลอด 56 ปีพบคำที่ใช้มากที่สุด 3 คำ “ขยันหรือเรียน-วินัย-คุณธรรมหรือจริยธรรม” ขณะที่ “ความสุข-พอเพียง-จิตสาธารณะ” ใช้น้อยที่สุด ชี้วาทกรรมเหล่านี้สะท้อนความคาดหวังของผู้ใหญ่ในยุคนั้น

วันนี้ (7 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า วันเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทยจัดขึ้นวันที่ 3 ต.ค.2498 จากนั้นเป็นต้นมาราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ จัดติดต่อกันมาจนถึงปี 2506 จนกระทั่งวันที่ 5 ก.พ.2507 จึงประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือน ม.ค.เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก และสนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก ช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ รวมถึงเพื่อให้เด็กไทยยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จึงเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกปี นายกรัฐมนตรี จะต้องมอบคำขวัญในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งลักษณะคำขวัญจะแตกต่างไปตามยุคสมัยของการเมืองการปกครองรวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 56 ปีที่ผ่านมา มีคำขวัญวันเด็กทั้งสิ้น 51 คำขวัญ เริ่มตั้งแต่ปี 2498 ซึ่งเป็นยุคอำนาจนิยม 2490-2516 คำขวัญส่วนใหญ่จะมีใจความให้เด็กตระหนักหน้าที่ของความเป็นเด็ก เช่น ความขยัน การมีระเบียบวินัย การมีความประพฤติที่ดี รวมถึงความรักชาติ ยุคกึ่งประชาธิปไตย 2516-2519 ในช่วงระยะ 4 ปี หลังเกิดเหตุการณ์เดือน ต.ค.ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวคำขวัญวันเด็กจะเน้นความรักความสามัคคี และการมีวินัย
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นพ.สุริยเดว กล่าวต่อว่า ต่อมายุคประชาธิปไตยเต็มใบ 2520-2545 จะเน้นคุณสมบัติเด็กๆ เช่น ขยันเรียน ประหยัด ซื่อสัตย์ รักในวัฒนธรรมไทย และเน้นคุณธรรมจริยธรรม ยุคประชาธิปไตยและเทคโนโลยี 2545-2550 จะเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าพูด ใฝ่หาความรู้ด้วยตนเองและก้าวทันเทคโนโลยี ยุคปฏิวัติการเปลี่ยนแปลง 2550-2551 คำขวัญวันเด็กจะเน้นหนักไปทางสามัคคี คุณธรรม พอเพียงยุคปัจจุบัน 2552-2556 รู้คิด มีจิตสาธารณะ ความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่หาความรู้ด้วยตนเอง และก้าวทันเทคโนโลยี

“เมื่อวิเคราะห์คำขวัญทั้งหมดพบว่า 3 คำแรกที่ใช้บ่อยที่สุดในวาทะกรรม คือ ขยัน หรือเรียน 33 ครั้ง วินัย 16 ครั้ง คุณธรรม จริยธรรม 16 ครั้ง ส่วน 3 คำแรกที่ใช้น้อยที่สุดในวาทกรรม คือ ความสุข 1 ครั้ง พอเพียง 1 ครั้ง จิตสาธารณะ 2 ครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความคาดหวังของผู้ใหญ่ที่ต้องการจากเด็กตามยุคสมัย ขาดความต่อเนื่องในการจัดการให้ฝันที่ผู้ใหญ่คาดหวังจากเด็กเป็นจริง ทั้งเชิงระบบและกระบวนการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทย ทำให้คำขวัญในแต่ละปี จึงเป็นเพียงวาทกรรมประจำปีที่ผู้ใหญ่มอบให้กับเด็ก”นพ.สุริยเดว กล่าว

นพ.สุริยเดว กล่าวด้วยว่า ความเป็นจริงของเด็กไทยในปัจจุบันมีพฤติกรรมเสี่ยง เด็กเล่นเกม 2,500 บาทต่อเดือน ดูทีวี 3-5 ชั่วโมงต่อวัน โทรศัพท์มือถือ 500 บาทต่อวัน สื่อลามกมากกว่า 200 ล้านรายการทางเว็บไซต์ เด็กไทยไอคิวต่ำลง เด็กออกจากระบบการศึกษามากขึ้น แล้วพบว่าครอบครัวมีขนาดเล็กลง ขาดความรัก มีปัญหาความรุนแรง ส่วนเด็กเองมีพฤติกรรมความรุนแรง เพศ เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด กินอาหารขยะ ปัญหาความสุขของเด็กไทยวันนี้เครียดจากการเรียนสูงถึง 66.99% เด็กรู้สึกซึมเศร้าเบื่อหน่ายต่อเนื่องทุกวันเป็นสัปดาห์มี 29% และส่วนหนึ่งจากการเรียน แล้วเด็กที่เคยหนีเรียนถึงร้อยละ 22 เบื่อการเรียน การบ้าน และเบื่อครู มีเด็กที่อยากลาออกและหยุดเรียน 8.92%

จากงานวิจัยของขวัญที่เด็กไทยทั่วประเทศอยากได้ คือ ความสุข ความรัก และการเห็นคุณค่า สิ่งที่เด็กอยากได้จากผู้ใหญ่มีพื้นที่กิจกรรม และพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ให้เรียนรู้ สร้างศักยภาพติดอาวุธทางปัญญา สำหรับเด็ก แล้วมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ปี 2554-2555 เด็กเสนอรัฐบาลขอให้จัดให้ช่วงปิดภาคเรียนหลักของทุกปีทั้งเดือนเป็นเดือนแห่งเด็ก เยาวชน และครอบครัว มากกว่าการเห็นความสำคัญกิจกรรมของเด็กแค่วันเด็กวันเด็ก และในวันเด็กปีนี้เราขอเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ มีฝ่ายงานด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัวเพื่อเป็นของขวัญวันเด็ก เดิมมีอยู่แล้ว แต่ไม่ถูกเน้น หากมีพี่เลี้ยง งบประมาณสนับสนุนจะทำให้ทุกชุมชน ทุกตำบล พัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนได้” นพ.สุริยเดว และว่า ทั้งนี้ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ภาคีเครือข่าย และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กำหนดจัดงานวันเด็กวันเสาร์ที่ 12 ม.ค. นี้ ภายใต้หัวข้อ “เด็กไทยปัญญาของแผ่นดิน” ตั้งแต่เวลา 8.00 น.เป็นต้นไป ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มม.ศาลายา
กำลังโหลดความคิดเห็น