xs
xsm
sm
md
lg

สธ.หวั่น กม.ห้ามขายเหล้าบนทางเป็นหมัน หลัง “ปลอด” ไม่ปลื้มซ้ำซ้อน กม.อื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.หวั่นร่าง กม.ห้ามขายเหล้าบนทาง เป็นหมัน หลัง “ปลอดประสพ” เปรยซ้ำซ้อนกฎหมายฉบับอื่น “หมอสมาน” ชี้ ร่างประกาศใหม่ห้ามขายเฉพาะเหล้า ไม่รังแกคนจนเหมือนกฎหมายเดิม 3 ฉบับ ที่ห้ามขายทุกอย่างบนทาง ด้านเครือข่ายเหล้าวอนผู้มีอำนาจชั่งน้ำหนักดีเสียออกประกาศเหล้า
ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
วันนี้ (19 ธ.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงมุมมองถึงร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ... มีแนวโน้มเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มั่นใจว่าจะได้ผล และอาจซ้ำซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่น ทั้งที่มีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างดังกล่าว ว่า เรื่องนี้ยังต้องชัดเจนในคำจำกัดความว่า “ทางเท้า” เพราะอาจซ้ำซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่น ซึ่งโดยหลักการคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจไม่ต้องการเช่นนั้น โดยหากมีกฎหมายฉบับใหญ่กว่าอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายอื่นมาซ้อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการประชุม คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สธ.ยืนยันจะผลักดันร่างประกาศดังกล่าวหรือไม่ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ยังคงยืนยัน เพราะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้ขับขี่ก่อให้เกิดอันตราย และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ตรงนี้ต้องมาพิจารณาว่าหากห้ามขายให้กับกลุ่มคนขับขี่อย่างเดียว โดยไม่กระทบกับบุคคลอื่นจะทำได้หรือไม่อย่างไร

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การห้ามขายเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ เหมือนการผ่าตัดใช้กล้องส่องเปิดแผลเล็กเพื่อดูดหนองออก คือ กระทบกระเทือนผู้ค้าคนจนน้อยที่สุด เพราะร่างประกาศนี้ห้ามขายเฉพาะเครื่องดื่มมีนเมา ต่างจากกฎหมายเดิม 3 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 44 ห้ามมิให้ผู้ใด ซื้อ ขาย แจกจ่าย หรือเรี่ยไร บนทางจราจรและไหล่ทาง โทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 109 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ บนทางเท้า หรือทางใดๆ ที่จัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร มาตรา 110 ห้ามมิให้ผู้ใด ซื้อขาย แจกจ่าย เรี่ยไร ในทางเดินรถ หรือออกไปกลางทางโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือเป็นการกีดขวางทางจราจร ซึ่งทั้งสองมาตรานี้มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ซึ่งน้อยมาก และ 3.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใดปรุงอาหาร ขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือในสถานสาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งกฎหมายทั้ง 3 ฉบับจะส่งผลต่อคนขายของมากกว่า เพราะรวมห้ามขายบนทางทุกอย่าง รวมถึงอาหารกับเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แม้แต่การตั้งวาง หรือมีส่วนหนึ่งส่วนใดยื่นออกไปกีดขวางการจราจรก็จะผิดกฎหมายทั้งหมด มีโทษทั้งจำคุกและปรับ แต่กลับเอื้อพวกบริษัทใหญ่ เพราะกฎหมายเดิมเปิดช่องให้ผ่อนผันขายของได้ อย่างการเปิดงานกาชาด เป็นต้น

ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า อยากฝากให้ นายปลอดประสพ และ นพ.ประดิษฐ ชั่งน้ำหนักถึงผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการออกประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางเท้า โดยนำข้อมูล สถิติ สภาพปัญหามาเป็นตัวตัดสินใจ เพราะเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างการเสียผลประโยชน์ของผู้ประกอบการกับการป้องกันการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ การลดอุบัติเหตุ ลดปัญหาสังคม ถือว่าคุ้มที่รัฐบาลควรต้องออกประกาศ ซึ่งปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยนั้น ถือเป็นปัญหาทางโครงสร้าง ทำให้เกิดผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ป่วย ปัญหาสังคม ทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ คิดเป็นสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่าแสนล้าน โดยธุรกิจเครื่องดื่มเหล่านี้ได้อาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพื่อทำการตลาดในรูปแบบต่างๆ การใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นการรักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม

รัฐบาลควรมองผลประโยชน์ของเด็ก เยาวชน ผู้ใช้ทางเท้า และสังคมโดยรวม ก่อนจะรีบตัดสินใจว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านประกาศฉบับนี้ ซึ่งพบว่าในช่วงเทศกาลต่างๆ การที่ปล่อยให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเสรี ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา โดยขณะนี้เครือข่ายองค์กรงดเหล้าในจังหวัดต่างๆ กำลังทำหนังสือสนับสนุนการออกประกาศฉบับนี้ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อส่งให้รัฐบาลต่อไป” นายธีระ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น