xs
xsm
sm
md
lg

เทรนด์อันตราย! สื่อเพื่อเด็กฯ จี้ กสทช.ออกกฎคุมคลิปในละครทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายสื่อเพื่อเด็กเยาวชนฯจี้ กสทช.ออกกฎคุมคลิปในละครทีวี หวั่นปลุกเทรนด์อันตราย ทำผิดกฎหมายโดยรู้ตัว พร้อมเร่งคลอดกลไกช่วยเหลือ ฟื้นฟูเหยื่อความรุนแรงจากการถูกแอบถ่าย ใช้คลิปแบล็คเมล์-ประจาน ขณะที่ กสทช.ย้ำประกาศฉบับใหม่มีผลบังคับใช้หลังปีใหม่ เชื่อใช้คุมสื่อที่ปลอดภัยให้เด็กได้

วันนี้ (7ธ.ค.) เมื่อเวลา11.00 น ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นางสาวรัตติยา อาจหาญ แกนนำเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว พร้อมด้วยมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และภาคีเครือข่ายกว่า30คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการ กสทช. เพื่อขอให้เร่งออกมาตรการควบคุมละคร ที่มีฉากการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงจากการแอบถ่าย และการใช้คลิปในรูปแบบดังกล่าว

นางสาวรัตติยา กล่าวว่า อิทธิพลของสื่อ และตัวละครในโทรทัศน์มีผลต่อเด็กเยาวชนอย่างมาก ละครแต่ละตัวสามารถชี้นำและกระตุ้นการเลียนแบบพฤติกรรมโดยที่เด็กรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และล่าสุดพบว่าในละครโทรทัศน์ จะมีฉากนำเสนอตอกย้ำเรื่องการฟอร์เวอร์ดคลิป เจาะระบบ ปล่อยคลิปประจานแบล็คเมล์ หรือที่เรียกกันว่า “สงครามคลิป” ให้เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา สามารถทำได้ โดยไม่มีข้อความคำเตือนใดๆ อาทิในละครเรื่อง“แรงเงา”ทาง ช่อง 3ที่พึ่งจบไป จึงมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เกิดพฤติกรรมเลียนแบบโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ แยกแยะจึงถือเป็นการชี้นำที่อันตราย

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทางเครือข่ายฯขอให้ กสทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจโดยตรง เร่งออกมาตรการดังนี้ 1.ควบคุมละคร ที่มีฉากการกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการแอบถ่าย การใช้คลิปประจาน แบ็คเมล์ ข่มขู่ ให้มีการขึ้นข้อความคำเตือนเช่นเดียวกับฉากเล่นการพนัน 2.ออกมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงจากการแอบถ่าย และการใช้คลิปในรูปแบบดังกล่าว และ3.ภาคีเครือข่ายขอขอบคุณที่ กสทช. มีนโยบาย เรื่องการจัดเรตติ้งรายการเด็ก ทางสื่อโทรทัศน์ช่วงเวลา16.00-18.00นจันทร์-ศุกร์ และ 07.00-09.00และ 18.00-22.00 น.ในวันเสาร์ อาทิตย์ ตลอดจนการสนับสนุน ผลักดันให้มีช่องฟรีทีวีสำหรับเด็ก 2 ช่อง จาก 5 ช่องที่จะเปิดประมูลใหม่และให้รายการโทรทัศน์ มีรายการเด็กไม่น้อยกว่า 60 นาทีต่อวันหรือ15%ของรายการทั้งหมด

“เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเยาวชน ควรมีองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบรรดาสปอนเซอร์มาร่วมแลกเปลี่ยนให้เกิดมุมมองแง่คิดที่หลากหลาย ป้องกันพฤติกรรมเลี่ยนแบบและบริโภคสื่ออย่างมีสติ ซึ่งเครือข่ายฯ ต้องการเห็นสื่อไทยมีคุณภาพ และสร้างสรรค์เพื่อเด็กเยาวชน ครอบครัวอย่างแท้จริง ซึ่งหากมีมาตรการต่างๆออกมาควบคุมที่ชัดเจน เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมพัฒนาให้เด็กได้มีเกราะป้องกันที่ปลอดภัยจากการบริโภคสื่อ และมีพื้นที่ผลิตสื่อที่สร้างสรรค์”แกนนำเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าว

ขณะที่ พันเอก ดร. นที กล่าวภายหลังรับหนังสือจากเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว ว่า ขณะนี้กสทช.ได้กำหนดประกาศฉบับใหม่ เรื่องของการจัดเรตติ้งโดยมีเนื้อหาที่เหมาะสมคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งอยู่ระหว่างประกาศในราชจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้หลังปีใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม หากมีประกาศฉบับนี้ออกมาก็จะสามารถควบคุมการผลิตสื่อที่ไม่ปลอดภัยได้ง่ายขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น