xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.กิจการเด็กฯ วอน “สื่อ-ละคร” ลดน้ำเน่าช่วยสังคม ทำเด็กเลียนแบบทั้งชู้สาว-ทำร้ายตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พะเยา - ห่วงพฤติกรรมเลียนแบบละครส่งผล “คิดสั้น” แนะยึดหลักธรรมะวางทักษะชีวิตให้มีคุณค่า วอนธุรกิจ “สื่อ-ละคร” ร่วมตระหนักเชิงสังคม

นางสาวอรุณี ชำนาญยา ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงทำร้ายร่างกายตัวเองในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การเกิดอันตรายต่อชีวิตตนเองและกระทบกระเทือนจิตใจคนในครอบครัว-รอบข้าง และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุว่า ส่วนหนึ่งมาจากสื่อที่มีการนำเสนอรายการโทรทัศน์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบของกลุ่มเด็กๆ ทาง กมธ.กิจการเด็กฯ เคยมีการประชุมหารือและวิเคราะห์เรื่องนี้มาหลายครั้ง ยอมรับว่าปัจจัยมีหลายประการที่ทำให้เกิดพฤติกรรมอันตรายของเด็ก เช่น สื่อโทรทัศน์ที่เป็นละครหัวค่ำ หรือรายการที่อาจจะมีการนำเสนอพฤติกรรมบางประเภทที่อาจจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่เป็นอันตรายต่อเด็ก ส่งผลให้ทำร้ายตัวเอง หรือคิดสั้น

ปธ.กมธ.กิจการเด็กฯ กล่าวต่อว่า แต่หากจะโทษสื่อเพียงปัจจัยเดียวคงไม่ได้ ทุกฝ่ายในสังคมจะต้องร่วมกันตระหนักรู้ว่าปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นมาจากสิ่งใดบ้างที่เป็นปัจจัยดึง ปัจจัยผลัก ส่วนกรณีเรื่องละครหัวค่ำที่เป็นละครหลังข่าว ตนไม่มีโอกาสได้ชมจึงไม่ทราบว่ามีรายละเอียดเป็นเช่นไร บางครั้งทีมงานในพื้นที่ได้สะท้อนให้ฟังถึงเนื้อหาละครที่มีการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องชู้สาว การมีกิ๊ก การนอกใจกันระหว่างสามี-ภรรยา หรือเรื่องราวเนื้อหารักใคร่ที่สุ่มเสี่ยงต่อพฤติกรรมเลียนแบบของเยาวชน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวตนไม่อาจจะโทษว่าเป็นผลผลิตของสื่อละครโทรทัศน์โดยตรง เพราะละครมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ส่วนดีทำให้เกิดความบันเทิงได้พักผ่อน ขณะที่ส่วนเสียคือการนำเสนอเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่ผิดๆ ให้แก่เยาวชนหรือกลุ่มประชาชนใดๆ ได้ในเวลาต่อมา

นางสาวอรุณีกล่าวอีกว่า แท้จริงแล้วหากผู้ผลิตละคร หรือสถานีโทรทัศน์ต่างๆ กระทรวงวัฒนธรรม หรือหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตระหนักถึงปัญหาสังคม และร่วมกันคัดกรองละครกลางคืนให้มีเนื้อหา สาระ สร้างสรรค์สังคม ไม่มุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์เชิงธุรกิจมากจนเกินไป คิดถึงผลกระทบเชิงสังคม ทำให้เกิดการถ่วงดุลในสังคม ตนคิดว่าจะไม่เกิดปัญหาเรื่องละครน้ำเน่า พฤติกรรมเลียนแบบที่เป็นอันตรายขึ้นมาได้ ขณะเดียวกัน สถาบันครอบครัว พ่อแม่ หรือผู้ปกครองเมื่อชมละครกับลูกแล้วต้องรู้จักสะท้อนปัญหาว่าเรื่องใดควร หรือไม่ควรเลียนแบบ การใช้ชีวิตอย่างไรให้มีคุณค่าแก่ตัวเอง ผู้อื่น และสังคม

แต่ต้องยอมรับว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความหนักแน่นของผู้บริโภคสื่อ วุฒิภาวะของตนเอง วุฒิภาวะของผู้นำ จะต้องมีสติควบคุมตัวเองให้ได้ ด้วยการใช้หลักธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ใช้ทักษะในชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ทำร้ายตัวเอง ทุกวันนี้พบว่าผู้คนแทบทุกเพศทุกวัยส่วนใหญ่มีเวลาศึกษาหลักธรรม ฝึกตัวเองให้มีสมาธิน้อยลง เมื่อขาดหลักธรรม ทำให้ชีวิตขาดหลักวินัย ไม่มีความอดทน อดกลั้น ก่อเหตุได้ง่าย พร้อมกันนี้ขอฝากไปยังสื่อสารมวลชนทุกแขนง ร่วมกันตระหนักถึงสิ่งที่จะนำเสนอควรคำนึงถึงผลกระทบเชิงสังคมด้วย ถ้าเป็นละครก็ขอให้เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ ระมัดระวังความละเอียดอ่อนรื่องการเป็นปัจจัยเหตุของพฤติกรรมเลียนแบบของวัยรุ่นหรือเยาวชนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น