วธ.จี้ผู้ผลิตมีจริยธรรม เลิกอ้างสิทธิสร้างละครรุนแรง ด้านสถาบันรามจิตติ ระบุ เยาวชนระดับมัธยม อุดมศึกษา เสพสื่อลามก คลิปรุนแรง ผ่านออนไลน์
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในการป้องกันและแก้ไข ปัญหาสื่อไม่เหมาะสม ว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีกลางในการรับฟังความคิดเห็น และสะท้อนปัญหาการใช้สื่อในปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเสนอเนื้อหาของละครหลังข่าว ซึ่งพบว่า นับวันยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น จัดเนื้อหาไม่ตรงกับเรตติ้ง เช่น น.18 มาฉายในช่วง น.13 เป็นต้น ส่งผลให้เกิดกรณีการเลียนแบบ จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต ดังนั้น ตนเห็นว่า ละครควรจะมีเนื้อหาที่เหมาะกับผู้ชมทุกวัย และจัดให้เหมาะสมกับเวลาในช่วงละครหลังข่าว 20.30 น.ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักอ้างว่า การนำเสนอเนื้อหานำมาจากสภาพความเป็นจริงของสังคม แต่ทั้งที่จริงแล้วสามารถนำบทประพันธ์ดีๆ มานำเสนอต่อผู้ชมได้ โดยไม่เน้นเนื้อหา เรื่องเพศ ภาษา รวมถึงความรุนแรง
ปลัด วธ.กล่าวต่อว่า ส่วนของข้อกฎหมายนั้น มีการอ้างถึงสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย แต่บางสื่อก็ไม่มีการเคารพจรรยาบรรณในวิชาชีพ ดังนั้น วิชาชีพสื่อ จะต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพควบคู่กับการเคารพกฎหมายไปด้วย ที่สำคัญ สังคมโดยรวมจะโทษสื่ออย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ช่วยกันดูแล ไม่ว่าสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนานอกจากนี้ ควรใช้มาตรการทางสังคม โดยให้ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยจัดระเบียบสื่อ ให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับชุมชน โดยไม่อยากใช้การตำหนิว่าสื่อนั้นไม่ดี แต่อยากให้สื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมด้วยความเต็มใจจะดีกว่า
นายสมชาย กล่าวว่า สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ร่วมกับ สถาบันรามจิตติ ได้รวบรวมสภาพปัญหาของเด็กไทยในมิติวัฒนธรรม รุ่นที่ 2 พบข้อมูลที่น่าสนใจด้านสื่อว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ใช้เวลา 1 ใน 3 ของ ชีวิตไปกับสื่อกับเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ โดยเด็กและเยาวชนระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาใช้เวลากับสื่อทั้งโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ ไม่ต่ำกว่าวันละ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน ที่สำคัญข้อมูลผลวิจัยจากหลายประเทศ ยังพบว่า เด็กมากกว่าร้อยละ 50 ไม่สามารถทนอยู่ได้โดยไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ติดโทรศัพท์มือถือทุกลมหายใจเข้าออก ที่น่าห่วง คือ เด็กร้อยละ 30 เสพสื่อลามก อาทิ ภาพโป๊ทางมือถือ การ์ตูน ส่วนเว็บโป๊ที่ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเป็น สื่อเซ็กซ์ออนไลน์ ปัจจุบันมีมากกว่า 106 ล้านเว็บไซต์ ซึ่งผลสำรวจของเอแบคโพลล์ พบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า สถานการณ์ที่ทำให้อยากมีเพศสัมพันธ์เกิดจากการดูสื่อลามก ที่ส่งผลทำให้เกิดปัญหา เพศสัมพันธ์เสรี
“ในช่วง 30 ปีมานี้ พบรายงานว่า โทรทัศน์มีผลต่อพฤติกรรมเด็ก ละคร การ์ตูนเนื้อหารุนแรง ภาพการใช้อาวุธปืน มีด ทำร้ายกัน ภาพการคุกคามทางเพศ พฤติกรรมพูดจาหยาบคาย ซึ่งส่งผลให้เห็นจากพฤติกรรมของเด็กเยาวชน ที่ชอบถ่ายคลิปวิดีโอทำร้ายกันผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ ปัจจุบันมีเผยแพร่คลิปความรุนแรงของวัยรุ่นมากกว่า 3,000 คลิป อย่างไรก็ตาม ยังพบข้อมูลอีกว่า เด็กไทยยังมีไอคิวที่ต่ำ ซ้ำด้วยสื่อกระตุ้นตัญหามากกว่าปัญญา” ปลัด วธ.กล่าว