xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรสตรีหนุนผู้ชายเป็นแฟมิลีแมน ลาคลอดช่วยเมียเลี้ยงลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผลสำรวจพบคนไทย 76% รู้ถึงการมีสิทธิ์พ่อลาคลอด แต่ 71% เข้าใจว่ามักลา เพื่อไปทำธุระอย่างอื่นมากกว่าดูแลลูกเมีย องค์กรสตรีหนุนสร้างค่านิยมให้ผู้ชายเป็นแฟมิลีแมน ไม่อายต่อการลาคลอดเพื่อเลี้ยงลูก ด้าน “นายกฯปู” ส่งเสริม พม.เสนอสิทธิ์พ่อลาคลอดครอบคลุมเอกชน จนท.รัฐ และรัฐวิสาหกิจ โยนแรงงานทำความเข้าใจผู้ประกอบการ ก่อนออกประกาศกระทรวง คาดบังคับใช้ปีหน้า

วันนี้ (30 พ.ย.) ที่โรงแรมสุโกศล นายสังคม คุณคณากรสกุล ประธานบริษัท ไทยทอปปิค จำกัด นำเสนอผลการสำรวจ “ผลกระทบและการใช้สิทธิ์พ่อลาคลอด” ในเวทีเสวนาวิเคราะห์ และสังเคราะห์การสื่อสารการใช้สิทธิ์พ่อลาคลอด ว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่ ร่วมกับบริษัท ไทยทอปปิค จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นการใช้สิทธิ์พ่อลาคลอด จากกลุ่มข้าราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจำนวน 1,473 ตัวอย่าง เป็นชาย 574 ราย เป็นหญิง 899 ราย พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.04 รับรู้ถึงการมีสิทธิ์พ่อลาหยุดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ ร้อยละ 54.72 รู้ถึงวัตถุประสงค์ของการใช้สิทธิ์ลาหยุด อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.89 มองว่าพ่อที่ใช้สิทธิ์ลาหยุดดังกล่าวอาจมีไปทำธุระอื่นบ้าง ส่วนการขยายสิทธิ์ ต้องการให้ครอบคลุมถึงลูกจ้างของรัฐร้อยละ 77.87 ภาคเอกชนร้อยละ 46.5 และกลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจอีกร้อยละ 44.4

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การดูแลลูกหลังคลอดไม่ใช่ภาระงานของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นภาระของผู้ชายด้วย เพราะช่วงหลังคลอดสุขภาพของคุณแม่จะยังไม่เข้าที่ จึงจำเป็นที่ต้องมีคุณพ่อคอยช่วยเหลือ ทั้งการเปลี่ยนผ้าอ้อม ซักผ้าอ้อม ช่วยให้นมลูกเวลาที่คุณแม่มีน้ำนมออกไม่เต็มที่ ฯลฯ แต่ผู้ชายส่วนมากมักมีความกระดากอายหากต้องทำในเรื่องดังกล่าว ตรงนี้ต้องมีการรณรงค์ให้ผู้ชายปรับทัศนคติเสียใหม่ ต้องสร้างค่านิยมของความเป็นแฟมิลีแมนว่า เป็นผู้ชายที่ดูแลลูก ดูแลครอบครัวเป็นผู้ชายที่เท่และแมน ยิ่งมีการให้สิทธิ์ข้าราชการสามารถลาคลอดเพื่อไปช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรแล้ว ยิ่งต้องมีการรณรงค์ให้สังคมเข้าใจในสิทธิ์ดังกล่าว รวมไปถึงการประเมินว่าเมื่อใช้สิทธิ์ลาคลอดตรงนี้แล้วช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นหรือไม่ เพื่อปรับขยายสิทธิ์พ่อลาคลอดจาก 15 วัน ให้เป็น 1 เดือน เนื่องจากร่างกายของผู้หญิงหลังคลอดต้องใช้เวลาปรับตัวมากกว่า 15 วัน ซึ่งสิทธิ์ลาคลอดดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการช่วยภรรยาเลี้ยงดูลูก

ผศ.ปารีณา ศรีวณิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นทั้งภรรยาและคุณแม่ การดูแลลูกหลังคลอดถือเป็นช่วงที่ยากลำบาก เนื่องจากสุขภาพร่างกายยังไม่ฟื้นฟูเต็มที่ การมีสามีมาช่วยเลี้ยงดูลูกนั้น แม้ฝ่ายชายจะไม่สามารถให้นมลูกได้ แต่ก็มีส่วนทำให้ผู้หญิงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมได้สำเร็จ เพราะเราเกิดความอุ่นใจและมีความสุข เมื่อมีสามีมาช่วยอยู่ใกล้ๆ ดังนั้น จึงควรมีการรณรงค์ให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของการใช้สิทธิ์พ่อลาคลอด โดยเฉพาะหัวหน้างานที่เป็นผู้อนุมัติการลา เพราะหากไม่มีความเข้าใจก็จะทำให้ไม่ได้รับอนุมัติการลา

ผศ.ปารีณา กล่าวอีกว่า สำหรับจุฬาฯนั้น ได้ปรับสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สามารถวางระเบียบการลาเองได้ แต่ต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเมื่อปี 2551 ได้มีการเสนอต่อมหาวิทยาลัยให้ผู้ชายสามารถลาคลอดได้ 1 เดือน เพื่อไปดูแลภรรยาและลูก เพราะผู้หญิงต้องอาศัยเวลาการปรับตัวหลังคลอดประมาณ 1 เดือน แต่สุดท้ายลาได้เพียงแค่ 10 วัน ซึ่งมีการออกเป็นระเบียบเมื่อปี 2552 ส่วนการลาคลอดของฝ่ายหญิงนั้น ล่าสุด ได้กำหนดให้สามารถลาคลอดได้ถึง 6 เดือน แบ่งเป็น 3 เดือนแรกถือตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนด คือ ลาแล้วแต่ยังได้รับเงินเดือน แต่หากใช้สิทธิ์ลาอีก 3 เดือนนั้นถือเป็นการลาแบบไม่ได้รับเงินเดือน

ด้าน นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ชายไทยมักถูกกล่าวหาว่าไม่สนใจเรื่องลูก และปล่อยให้ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลเพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ความจริงมีผู้ชายจำนวนมากอยากลางานเพื่อไปช่วยภรรยาเลี้ยงดูลูกที่เพิ่งคลอด แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีการเปิดโอกาส ทั้งที่ต่างประเทศมีการให้สิทธิ์ตรงนี้แล้ว เช่น โปแลนด์สามารถลาได้ 14 วัน นอร์เวย์ 10 สัปดาห์ ออสเตรียให้มากสุดถึง 3 ปี แต่เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2553 คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ข้าราชการชายสามารถใช้สิทธิ์ลาคลอดได้ไม่เกิน 15 วัน เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูลูกหลังคลอด อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการให้สิทธิ์ดังกล่าว แต่ยังพบว่าข้าราชการที่ยังไม่มีครอบครัวมักจะไม่สนใจในสิทธิ์ตรงนี้ และข้าราชการที่ต้องการใช้สิทธิ์ลาคลอด ต้องเป็นกรณีลูกที่คลอดจากภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือมีการจดทะเบียนสมรสเท่านั้น ซึ่งมีผลกระทบต่อกลุ่มที่ไม่ได้จดทะเบียน ตรงนี้ยังต้องมีการแก้ไขต่อไป

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มพนักงานของรัฐ ภาคเอกชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สค.ได้เสนอให้กลุ่มดังกล่าวสามารถใช้สิทธิ์ลาคลอดได้เหมือนข้าราชการ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาสตรีแห่งชาติ ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว โดยที่ประชุมฯก็ได้เห็นชอบต่อข้อเสนอดังกล่าว เหลือเพียงการประกาศเพื่อบังคับใช้ทางกฎหมายเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่อย่างใด กระทรวงแรงงานสามารถประกาศเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ได้เลย ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศได้ภายในปี 2556

“แต่ปัญหาคือ การให้สิทธิ์พ่อลาคลอดในกลุ่มภาคเอกชน พนักงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจนั้น ถือเป็นเรื่องที่กระทบคนทั้งประเทศ ต้องมีการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการเสียก่อน ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว และพบว่ามีหลายบริษัทที่ตอบรับต่อการให้สิทธิ์พ่อลาคลอด เนื่องจากเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะปีหนึ่งมีการลาคลอดไม่มาก และไม่กระทบกับองค์กรเท่าไรนัก” นายสมชาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น