สธ.เตรียมพัฒนาคุณภาพการแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาล 10,692 แห่ง และ รพ.การแพทย์แผนไทยต้นแบบในสังกัด 10 แห่ง พร้อมรองรับผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาล เพื่อเก็บข้อมูลศึกษาวิจัย กำหนดมาตรฐานการรักษาผู้ป่วย และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพแก่แพทย์แผนไทย
วันนี้ (23 พ.ย.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดแพรคลุมป้ายอาคารผู้ป่วย “เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา” ขนาด 144 เตียง โรงพยาบาลอำนาจเจริญ และทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศลจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ ให้บริการแก่ประชาชน จากนั้นได้เดินทางไปมอบกระเป๋าเยี่ยมบ้าน และชุดวัดความดันโลหิต แก่ตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 60 ชุด ที่หอประชุมพญานาครินทร์ ที่ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ และตรวจเยี่ยมศูนย์แพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลพนา จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ ให้บริการด้วยแพทย์แผนไทยครบวงจร ทั้งการตรวจ รักษา ผลิตยาสมุนไพรและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทย โดยผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ ซึ่งขณะนี้ให้บริการแล้ว 10,692 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยจะเร่งพัฒนาให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐมีมาตรฐานยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ใช้ยาสมุนไพรให้มากขึ้น และเพิ่มบริการแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะการนวดเพื่อฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ สธ.มีนโยบายพัฒนาโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยต้นแบบของประเทศ ซึ่งเปิดดำเนินการในปี 2554-2555 จำนวน 14 แห่งทั่วประเทศ โดยให้บริการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยที่แผนกผู้ป่วยนอก ประกอบด้วย โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสังกัด สธ.จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี 2.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี 3.รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี 4.รพ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว 5.รพ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว 6.รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ 7.รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ 8.รพ.เทิง จ.เชียงราย 9.รพ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี และ 10.รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ที่ยศเส กรุงเทพฯ และอยู่นอกสังกัด สธ.อีก 4 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2556 นี้ จะเริ่มดำเนินการนำรองรับผู้ป่วยนอนรักษา ในโรงพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 10 แห่ง ให้การดูแลด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย กินยาสมุนไพรไทย เพื่อเก็บข้อมูลโดยการศึกษาวิจัย กำหนดมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยแก่แพทย์แผนไทย เป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพแก่แพทย์แผนไทยทั่วประเทศเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ จะทำการศึกษาวิจัยการบำบัดรักษาโรคเรื้อรังด้วยการแพทย์แผนไทย เช่นโรคตับแข็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และอื่นๆ ใช้ยาไทยที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาสมุนไพรที่แพทย์แผนไทยปรุงเฉพาะราย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับการดูแลที่หลากหลายยิ่งขึ้น