xs
xsm
sm
md
lg

ถกปม FTA ไทย-อียู นัดแรก “หมอประดิษฐ์” สั่งห้ามเปิดศึกน้ำลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถกผลกระทบ FTA ไทย-อียู นัดแรก “หมอประดิษฐ” สั่งห้ามทะเลาะกัน ยันไม่รับข้อตกลงที่ทำให้ประเทศเสียหายแน่ แต่หากมีผลกระทบก็ต้องหาทางเยียวยา ด้านกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ เผย 5 ปี หลังรับเอฟทีเอไทย-อียู ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะบานอีกกว่าแสนล้านบาท วอนรอผลศึกษา อย.-สช.ก่อนนำเข้าครม.

วันนี้ (22 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมหารือเรื่อง “ข้อคิดเห็นต่อการเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ในประเด็น : Data Exclusivity และ Paterm Extension” โดยมีผู้แทนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, อย.และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องพิจารณาการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ว่า จะมีผลดี ผลเสีย หรือเกิดความเสียหายอย่างไรกับอุตสาหกรรมยาและระบบยาในประเทศ และจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร หากภาพรวมเป็นบวกก็สามารถทำได้เลย แต่หากผลออกมาเป็นลบอาจจะไม่ทำ หรือหากทำจะมีการเยียวยาอย่างไร เช่น แก้กฎระเบียบภายในประเทศเพื่อป้องกันผลกระทบ ระยะเวลาการจดสิทธิบัตรที่สมเหตุผล ระเบียบการจดสิทธิบัตร เป็นต้น

“เราสามารถกำหนดกติกาภายในได้ ไม่ต้องทำตามที่กลุ่มประเทศคู่ค้าบอกทุกอย่าง เพราะเขาเพียงแต่ยื่นกรอบการเจรจามาเท่านั้น ไทยก็ต้องมีกรอบของตัวเองต่อรอง ซึ่งต้องเอาประสบการณ์มาจากประเทศที่มีการเจรจาต่อรองแล้วมาพิจารณาดู เช่น อุตสาหกรรมยาอินเดีย มีวิธีการต่อรองอย่างไร จึงได้ผลลัพธ์ที่ไม่เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ เป็นต้น ดังนั้น วันนี้ซึ่งเป็นวันแรกที่ได้คุยกันจึงอยากให้ร่วมกันเสนอหาทางออก ไม่ใช่มาทะเลาะกันว่าใครทำผิดทำถูก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีขั้นตอนในการรับฟังประชาชนทุกด้าน เพื่อนำไปคิดแก้ปัญหาต่อไป ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาและนำเข้าสู่การพิจารณาตามกรอบของสภาฯ แต่ยืนยันว่า ยังไม่นำเข้าที่ประชุมครม.ในวันอังคารนี้แน่นอน เพราะมีประชุมสภาวาระไม่ไว้วางใจ”รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า การทำเอฟทีเอทุกอย่างต้องอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน หากยอมรับข้อเสนอแล้วเกิดปัญหา แต่ไม่สามารถหามาตรการแก้ไขได้รัฐบาลคงไม่ทำ แต่ยอมรับว่ามาตรการที่ออกมาอาจจะแก้ไขไม่ได้ 100% แต่ก็จำเป็นต้องหาวิธีการเยียวยา และหวังว่าจะมีการเยียวยาข้อเรียกร้องให้ได้มากที่สุด ถ้าออกมาแล้วรัฐบาลทำให้เกิดผลทางลบคงไม่ทำ

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้แทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการศึกษาของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ในปีที่ 5 นับจากปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลยา หรือที่เรียกว่า Data Exclusivity ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาทต่อปี และเมื่อมีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาหรือที่เรียกว่า Patent Term Extension เพิ่มขึ้นอีก 5 ปี ส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาทต่อปี ภาพรวมผลกระทบจาก 2 เรื่องอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ไทยเคยมีบทเรียนเรื่องทำนองนี้มาแล้วจากการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2535 ที่มีการขยายอายุสิทธิบัตรจาก 15 ปีเป็น 20 ปี ส่งผลให้มูลค่าการใช้ยาของไทยเปลี่ยนไป จากที่การใช้ยาในประเทศ 72% ปัจจุบันใช้ยาสิทธิบัตรถึง 69% คาดว่า สิ้นปี 2555 จะเพิ่มเป็น 75% และขอยืนยันว่าพวกเราไม่ได้ค้านการเจรจาการค้าเสรี แต่ต้องการเห็นการค้าที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ก่อนที่รัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้หรือการนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ควรรอผลการศึกษาผลกระทบของ อย.กับสช.ที่จะเสร็จในเดือนมิถุนายน 2556 ก่อน เพราะการศึกษาดังกล่าวจะอธิบายถึงแนวทางการเจรจาอย่างไรไม่ให้ไทยได้รับผลกระทบทางด้านยาด้วย และหากรัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนสุ่มเสี่ยงที่จะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ก่อนการดำเนินการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ ครม.ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและชี้แจงต่อรัฐสภาในสาระของสัญญานั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น