xs
xsm
sm
md
lg

คร.แนะเลี่ยงบ่อขยะ ชี้สูดประจำสะสมสารพิษไม่รู้ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนสูดดมกลิ่นจากบ่อขยะประจำ สะสมสารพิษแบบไม่รู้ตัว หากมีอาการผิดปกติ รีบพบแพทย์ทันที ขอคำปรึกษาสายด่วน 1422

นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ การแก้ปัญหาขยะ ซึ่งเป็นมลพิษจากของเสียเป็นนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนที่ต้องจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเพราะสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ของเสียอันตรายจากบ้านเรือนเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว เช่น ถ่านไฟฉาย น้ำยาทำความสะอาด หลอดฟลูออเรสเซนต์ สารเคมี กำจัดแมลง เป็นต้น ของเสียอันตรายจากภาคเกษตรกรรม เช่น ภาชนะบรรจุสารเคมี ประเภทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น ของเสียอันตรายจากสถานพยาบาล เช่น ขยะติดเชื้อ เศษเนื้อเยื่อ สารกัมมันตรังสี และสิ่งขับถ่ายหรือของเหลวจากร่างกายผู้ป่วย เป็นต้น และของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม เช่น สารเคมี เศษวัตถุดิบ เศษผลิตภัณฑ์ น้ำเสีย อากาศเสีย รวมทั้งขยะทั่วไปจากชุมชน เช่น เศษอาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร เป็นต้น

รมช.สธ.กล่าวต่อว่า สุขภาพของประชาชนที่อยู่ใกล้บริเวณบ่อขยะ หรือทำงานเกี่ยวกับขยะมีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะในบ่อขยะ จะมีของเสียอยู่รวมกันจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงขยะอันตรายบางชนิดอาจมีสารเคมีที่เป็นพิษ หรือสารไวไฟ หรือสารกัดกร่อนเป็นส่วนประกอบ หากจัดการไม่ถูกวิธี หรือไม่ระมัดระวังจะทำให้สารเคมีที่อยู่ในนั้นรั่วซึมออกมาทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ สารอันตรายที่ปนเปื้อนในขยะอันตรายสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ การหายใจ เช่น สูดหายใจเอาอากาศที่มีควันไฟ ฝุ่นละออง และสารเคมีจากการเผาขยะเข้าไปการกิน เช่น เก็บขยะแล้วไม่ล้างมือก่อนกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจากขยะ และการดูดซึมทางผิวหนัง เช่น เดินเท้าเปล่าบนถนนที่ถมด้วยซากแบตเตอรี่เก่าเป็นประจำหากสูดดม หรือสัมผัสสารอันตรายเหล่านี้ก็อาจสะสมอยู่ในร่างกายแบบไม่รู้ตัว

นายแพทย์ ชลน่าน กล่าวอีกว่า ในประเทศไทย มีการสำรวจบริเวณที่ทิ้งขยะทั่วไปทั่วประเทศ ในปี 2550 พบว่า มีจำนวน 425 ที่เปิดทำการอยู่ โดยแบ่งเป็น ฝังกลบ 95 แห่ง และกองทิ้งกลางแจ้ง 330 แห่ง ส่วนสถานที่กำจัดขยะอันตรายมีเพียง 5 แห่ง นอกจากนี้ ยังพบว่า แบบกองทิ้งกลางแจ้งไม่มีการควบคุมและเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมได้มากกว่าแบบฝังกลบ และที่ผ่านมาปัญหาขยะอันตรายที่มีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็มีเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ใกล้บริเวณบ่อขยะหรือทำงานเกี่ยวกับขยะจึงควรดูแลสุขภาพของตนเองและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บ่อขยะ หรือหากมีอาการผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์ทันที

ด้านดร.นายแพทย์ พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ในบ่อขยะทั่วไปจะมีมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจำนวนมาก รวมถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ ได้แก่ อากาศเสีย เกิดจากการเผาขยะกลางแจ้งก่อให้เกิดควันและสารพิษทางอากาศ น้ำเสีย ที่เกิดจากขยะในบ่อเมื่อฝนตกลงมาบนขยะจะเกิดน้ำเสียและสกปรก ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง เป็นแหล่งพาหะนำโรค เกิดจากการกองขยะบนพื้น การเก็บขนขยะไม่หมด รวมทั้งการกองขยะที่ล้นจากขอบบ่อ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชน ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของหนูและแมลงวันสุดท้ายสร้างความรำคาญ และเกิดภาพไม่สวยงามด้วย

นอกจากนี้ ยังมีขยะที่เรียกว่า ขยะอันตราย ซึ่งมีส่วนผสมของโลหะหนักและสารเคมีต่างๆ มากมาย เช่น แมงกานีส ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม โบรมีน และสารหนู เป็นต้น หากเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดความผิดปกติได้ เช่น ถ่านไฟฉาย มีสารแมงกานีสส่งผลทำให้ปวดศีรษะ ประสาทหลอน สมองอักเสบได้ หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ที่มีสารปรอทซึ่งจะไปทำอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลางและอาจส่งผลให้มีความพิการแต่กำเนิด แบตเตอรี่รถยนต์ มีธาตุตะกั่วที่สามารถทำให้ความจำเสื่อมชักกระตุกและหมดสติ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสารโบรมีนทำลายการทำงานของตับ และเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรง เป็นต้น

ดร.นายแพทย์ พรเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ใกล้บริเวณบ่อขยะ หรือทำงานเกี่ยวกับขยะควรดูแลสุขภาพของตนเองและปฏิบัติตามข้อแนะนำโดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้พื้นที่บ่อขยะ ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดการสูดดมสารพิษสวมเสื้อแขนยาว สวมถุงมือ หมวกและแว่นตา เพื่อลดการสัมผัสสารพิษผ่านทางผิวหนังและล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังจากจับวัสดุในพื้นที่บ่อขยะ หากใครมีอาการผิดปกติ คลื่นไส้ คลื่นเหียน เวียนศีรษะในระยะนี้ต้องรีบพบแพทย์ทันที ซึ่งลักษณะการเจ็บป่วยนั้นหากเป็นพิษแบบเฉียบพลัน มักเป็นการสัมผัสเกิดขึ้นในครั้งเดียว ในระยะเวลาสั้น เช่น ภายใน 1 นาที หรือ 1-3 วัน มีอาการ ดังนี้ ผดผื่นคัน ระคายเคือง ผิวหนังไหม้ อักเสบ ขาดอากาศ หน้ามืด วิงเวียน หมดสติ หากเป็นแบบเรื้อรังเป็นการสัมผัสสารอันตรายในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำแต่เป็นระยะเวลานานทุกวัน ตั้งแต่เป็นเดือนจนถึงปี ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคทางระบบประสาท และโรคทางระบบเม็ดเลือด เป็นต้น ถ้าประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3333
กำลังโหลดความคิดเห็น