xs
xsm
sm
md
lg

สธ.อึ้ง! พบเชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก 2 ขวบครึ่งที่เสียชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สธ.ร่อนหนังสือจี้ทุกหน่วยงาน ช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคมือเท้าปาก มั่นใจหากปฏิบัติตามสถานการณ์จะสงบลงใน 6 สัปดาห์ เผยผลตรวจแล็บเด็กหญิง 2 ขวบครึ่งตาย เพิ่งออกวันอาทิตย์ พบเป็นเอนเทอโรไวรัส แต่ยังแยกสายพันธุ์ไม่เสร็จ เตือนไข้สูงเกิน 2 วัน ซึม อาเจียน ให้รีบพบแพทย์

วันนี้ (23 ก.ค.) ที่กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเข้าหารือร่วมกับสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เพื่อติดตามสถานการณ์โรคมือเท้าปาก และแลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำงาน ว่า การประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์โรคพร้อมกำกับการทำงานเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยโรคมือเท้าปากเป็นโรคที่พบมาเป็น 10 ปี ทำให้มีความรู้มากพอว่าจะเกิดการติดต่ออย่างไร การเกิดโรคจะเป็นอย่างไร ซึ่งการระบาดจะยังคงเกิดขึ้นอีกระยะหนึ่ง แต่กระทรวงสาธารณสุขจะพยายามทุกทางให้การระบาดเกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้เกิดการเสียชีวิตน้อยที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตายไม่ได้เลย เพราะทราบดีว่าอุบัติการณ์ที่จะเกิดการเสียชีวิตได้นั้นมีอยู่

นพ.ไพจิตร์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ส่งหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ติดตามสถานการณ์และการป้องกัน แก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี เช่น เมื่อพบสถานการณ์ในโรงเรียนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ประสานจังหวัดอย่างไร ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร ถือเป็นการส่งสัญญาณให้หน่วยงานต่างๆ ได้ปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม กระทรวงได้ติดตามสถานการณ์เพื่อควบคุมโรคมือเท้าปาก มาโดยตลอด ใน 3 เรื่อง คือ 1. การทำความสะอาดในสถานที่ที่มีเด็กเล็ก เสี่ยงต่อการเกิดโรค 2. หากโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ให้แยกผู้ป่วยออกจากเด็กอื่น ใช้มาตรการล้างมือ และ 3. ติดตามสถานการณ์เชื้อทางห้องปฏิบัติการ

“กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปล่อยให้การระบาดเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ และได้ติดตามสถานการณ์เพื่อเฝ้าระวังมาโดยตลอด แต่ตามปกติของการระบาดโรคมือเท้าปาก มักจะเกิดขึ้นสูงในช่วงนี้ ซึ่งคาดว่าเมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น โดยทุกฝ่ายปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมโรคสถานการณ์ก็จะสงบลงภายใน 6 สัปดาห์ เหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ที่เมื่อระบาดก็จะมีผู้ป่วยขึ้นสูงในช่วงเวลาหนึ่งและสงบลง” นพ.ไพจิตร์กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีเด็กหญิงวัย 2 ขวบซึ่งเสียชีวิตและต้องสงสัยว่าเกิดจากโรคมือเท้าปากนั้น นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า สำหรับเด็กหญิงรายดังกล่าว กระทรวงไม่ได้ปิดข่าว แต่ต้องทำตามข้อมูลที่จะต้องใช้ข้อมูลหลายด้านประกอบกัน ทั้งข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ ข้อมูลด้านระบาด และอาการทางคลินิก โดยผลยืนยันทางห้องปฏิบัติล่าสุดเพิ่งยืนยันเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ค.ว่า พบว่าเป็นเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 แต่สายพันธุ์ใดนั้น ยังต้องรอผลเพิ่มเติมและผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาจะเป็นผู้สรุปและแถลงข่าวอีกครั้ง

“การเก็บเชื้อเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการจะมาจากหลายส่วน ทั้งปาก คอ อุจจาระ น้ำในไขสันหลัง และบางรายหากมีอาการทางหัวใจ ก็จะต้องเก็บชิ้นเนื้อที่หัวใจเพื่อตรวจเชื้อเพิ่มเติมด้วย ซึ่งผลทางห้องปฏิบัติการเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถสรุปได้ เพราะอาจทำให้เกิดความผิดพลาดจึงต้องดูหลายๆ ส่วนประกอบกัน ซึ่งในปีนี้พบว่า ผู้ป่วยมือเท้าปากส่วนใหญ่ยังเป็นค็อกซากี และพบเอนเทอโรไวรัสแต่เป็นสายพันธุ์ บี 5 เป็นส่วนใหญ่ แต่พบว่าแม้จะเป็นสายพันธุ์ ซี 4 ก็ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของเด็ก และการเข้าถึงการรักษาด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองพบว่า ในช่วงนี้หากเด็กมีไข้ขึ้นสูง 2 วัน ซึม อาเจียน ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง” นพ.ไพจิตร์กล่าว

ด้าน นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จริงๆ แล้วกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการเพาะเชื้อบริเวณลำคอของเด็กหญิงวัย 2 ขวบครึ่งที่เสียชีวิต และเข้าข่ายต้องสงสัยว่ามาจากมือ เท้าปาก ซึ่งผลออกมาตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยพบว่ามาจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ B5 ไม่ใช่สายพันธุ์ c 4 อย่างที่กังวลกัน ซึ่งสายพันธุ์ B5 ไม่ได้น่ากลัว และไม่ใช่สายพันธุ์ที่รุนแรง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เด็กที่เสียชีวิตอาจไม่ใช่เพราะสายพันธุ์นี้หรือไม่ ตรงนี้ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลและการประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาฯ ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ เพื่อยืนยันก่อนว่า สรุปแล้วเสียชีวิตเพราะเชื้อสายพันธุ์ B 5 หรือเพราะภาวะอื่น

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าที่ผ่านมาไม่ได้ประวิงเวลา เพียงแต่ด้วยอาการที่มารักษาที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี มาด้วยอาการไอ และเคยมาด้วยอาการนี้แล้วก่อนหน้านี้ 1 เดือน ขณะเดียวกันผลตรวจอุจจาระเบื้องต้นก็ไม่พบเชื้อ ที่สำคัญยังไม่พบเชื้อที่ไขสันหลังด้วย ซึ่งแสดงว่าไม่เกี่ยวข้องกับมือ เท้า ปาก ด้วยสาเหตุต่างๆ ทำให้ยังไม่สามารถยืนยันเชื้อได้ จึงขอให้รอสรุปคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญก่อน

"สำหรับโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเอนเทอโรไวรัส 71 นั้น มีได้ทั้งทางสมอง ปอด และหัวใจ โดยสมองนั้น จะมีอาการซึม อาเจียน ชักกระตุก หายใจช้าลง ส่วนอาการทางปอด จะมีไอ หอบหืด บางรายหากไอมากอาจมีเลือดปนด้วย ไปจนถึงหัวใจล้มเหลว ส่วนอาการทางหัวใจนั้น จะมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเด็กรายนี้เป็นทั้งสามกรณี" นพ.สุรวิทย์ กล่าว

ขณะที่ นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม.ถึงสถานการณ์โรคมือเท้าปากในพื้นที่กรุงเทพฯว่า จากข้อมูลผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 23 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วยสะสมแล้ว จำนวน 2,979 รายคิดเป็นอัตราป่วย 53.49 ต่อประชากร 1 แสนคน ยังไม่พบผู้เสียชีวิต โดยเขตที่มีอัตราป่วยมากที่สุดคือเขตหลักสี่ รองลงมาคือเขตทวีวัฒนา ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 4 ปี ซึ่งกทม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโรคมือเท้าปากกรุงเทพมหานครโดยมี แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯกทม.เป็นประธานพร้อมทั้งการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคมือเท้าปาก และจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์ แนวทางการปฏิบัติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ทั้งนี้กทม.ได้ดำเนินการป้องกันควบคุมโรค ด้วยการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่เสี่ยง การแยกผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยว่าเป็นโรค การดูแลรักษาความสะอาด และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ คาดว่าสถานการณ์โรคดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายหลังเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น