xs
xsm
sm
md
lg

“สุรนันทน์” ฝืนมติ ครม.สั่ง ก.อุตฯ ทบทวนเลิกนำเข้าแร่ใยหินช่วยผู้ประกอบการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มติ ครม.ยกเลิกนำเข้าแร่ใยหินในปี 2555 เป็นหมัน “สุรนันทน์” สั่ง ก.อุตฯ พิจารณามาตรการยกเลิกนำเข้าใหม่ ยื้อลมหายใจผู้ประกอบการ รองเลขาฯนายกฯ คาด ไม่เกิน 3 ปี สามารถยกเลิกนำเข้าได้ทั้งหมด แต่ต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะมาตรการยังไม่ชัดเจน ด้านรัฐบาลยังไม่ไล่บี้ อ้างการเมืองไม่นิ่ง

วันนี้ (20 พ.ย.) ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวระหว่างการเปิดประชุมเครือข่ายขับเคลื่อนเพื่อรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินในประเทศไทย ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินภายในปี 2555 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ซึ่งเห็นชอบตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 มติ 1 มาตรการทำให้สังคมไร้แร่ใยหิน โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ทำแผนปฏฺิบัติการแบนแร่ใยหิน แต่กลับมีการชะลอการยกเลิก เนื่องจากมีความเป็นห่วงผู้ประกอบการที่นำเข้าแร่ใยหิน และเกรงจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งตนมองว่าเป็นการสวนกระแสความจริง สวนกระแสสังคม และสวนทางกับมติ ครม.ตรงนี้ต้องเร่งมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยต้องอาศัยพลังในการดำเนินการ 3 พลัง เพื่อให้การยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินเป็นความจริง ได้แก่ 1.พลังความผูกพันของแต่ละหน่วยงานที่ต้องการเห็นประชาขนมีสุขภาวะที่ดี 2.พลังปัญญาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 3.พลังทางการเมือง ในการออกเป็นนโยบายสาธารณะ
สุรนันทน์ เวชชาชีวะ - ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
พลังทางการเมืองถือว่ามีความสำคัญที่สุดในการผลักดันให้เกิดการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน ซึ่งหากผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานมีความผูกพันและจริงใจต่อการแก้ปัญหาการนำเข้าแร่ใยหิน เชื่อว่า จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้” คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

นพ.ประสิทธิ์ ชัยรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยมอบหมายให้ตนทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ก.อุตสาหกรรม T-BAN กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชน ฯลฯ ในการวางแผนหยุดการใช้แร่ใยหิน ซึ่งตนได้รายงานกลับไปยังนายกฯแล้วว่า สมควรที่จะดำเนินการตามมติ ครม.ที่ให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินภายในปี 2555 เนื่องจากสารใยหินมีอันตรายต่อสุขภาพ และหลายบริษัทได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในการผลิตแล้ว โดยหันไปใช้สารทดแทนตัวอื่นซึ่งมีราคาแพงกว่ากันไม่มากนัก เหลือเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่ยังคงใช้แร่ใยหินอยู่ อย่างไรก็ตาม นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ให้ ก.อุตสาหกรรม พิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถยกเลิกการนำเข้าและการใช้แร่ใยหินตามมติ ครม.ได้ในปีนี้

“แต่เชื่อว่า ภายใน 2-3 ปี จะสามารถยกเลิกได้ทั้งหมด เพราะต่างประเทศมีการยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นจำนวนมากแล้ว แม้แต่ประเทศผู้ผลิตแร่ใยหินอย่างแคนาดาก็ยกเลิกการใช้แล้วเช่นกัน ผู้ประกอบการที่ผลิตวัสดุจากแร่ใยหินจะไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปขายได้ สุดท้ายก็ต้องเลิกการใช้แร่ใยหินไปโดยปริยาย แต่เป็นไปในลักษณะของการค่อยๆ ลดการนำเข้าลง” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการลดการนำเข้าแร่ใยหิน คงต้องรอ ก.อุตสาหกรรม ทำเป็นระเบียบออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีแนวทางออกมาอย่างไร เพราะยังเขียนแผนงานออกมาไม่ชัดเจนและยังไม่มีการพูดคุยกัน ขณะที่รัฐบาลก็ยังไม่มีการเร่ง ก.อุตสาหกรรม ให้รีบดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสภาพการเมืองยังไม่นิ่ง อย่างไรก็ตาม หากการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินเป็นความจริงจะไม่เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เพราะบริษัทเหล่านี้ได้กำไรจากการนำเข้าแร่ใยหิน ซึ่งจากสถิติการนำเข้าพบว่า ในปี 2553 มีการนำเข้าแร่ใยหินประมาณ 70,000 ตัน ปี 2554 นำเข้าประมาณ 81,000 ตัน ส่วนปีนี้ยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่ชัด แต่มีสิทธิ์ที่จะสูงถึงกว่าแสนตัน ส่วนการฝ่าฝืนการนำเข้าจะมีบทลงโทษตามที่ ก.อุตสาหกรรม กำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น