โฆษก ครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ วอนรัฐบาลทบทวนมติ ครม.ให้ข้าราชการเลือก 1 โรงพยาบาล 1 โรคเรื้อรัง หวั่นเป็นภาระ ตอบโจทย์แก้เบิกจ่ายยาซ้ำซ้อนและแพทย์สั่งยาเกิน อีกด้านตำหนินำกองทุนฟื้นฟูฯ บังคับใช้อีกครั้ง ชี้ ทำเสียวินัยการเงิน เปิดช่องเอาภาษีประชาชนไปอุ้มธนาคารพาณิชย์
วันนี้ (7 พ.ย.) นายอรรถวิช สุวรรณภักดี โฆษก ครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ว่า มีข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการรักษาพยาบาลข้าราชการประจำที่ ครม.มีมติให้ ข้าราชการเลือกโรงพยาบาลในการรักษาโรคเรื้อรังได้เพียง 1 โรงพยาบาลต่อ 1 โรค ซึ่งเป็นการตัดสิทธิข้าราชการประจำในการรักษาพยาบาล ซึ่งจะส่งผลให้โรงพยาบาลมีปริมาณคนไข้มากขึ้นเป็นภาระของโรงพยาบาล จึงอยากให้รับบาลทบทวนมติ ครม.ดังกล่าว เพื่อให้ตอบโจทย์สองเรื่อง คือ ห้ามไม่ให้เบิกจ่ายยากซ้ำซ้อนและป้องกันไม่ให้แพทย์สั่งยาเกิน โดยสามารถแก้ไขได้ด้วยการที่กรมบัญชีกลางไปทบทวนระบบคอมพิวเตอร์ของกรมบัญชีกลาง
โฆษก ครม.เงา กล่าวด้วยว่า กรณีที่ ครม.มีมติแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้นำเอากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งจะสิ้นสภาพในปี 2556 กลับมามีสภาพใช้บังคับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า กองทุนนี้ทำหน้าที่อุ้มสถาบันการเงินที่มีปัญหาเหมือนในปี 2540 จึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า เป็นความประสงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือรัฐบาล เพราะถ้าเป็นของรัฐบาลจะอันตรายมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้กับประชาชน แต่เมื่อมีการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยนำค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ไปจ่ายในส่วนนี้แทนที่จะนำเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเหมือนที่เคยดำเนินการ จึงทำให้ไม่มีเงินเข้าไปในสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะต้องมีจำนวน 2 แสนล้าน แต่ในขณะนี้มีเงินอยู่ในสถาบันไม่ถึง 1 แสนล้าน และจะไม่มีเงินเข้าสถาบันตามเป้าที่วางเอาไว้ รัฐบาลจึงต้องฟื้นชีวิตของกองทุนฟื้นฟูพัฒนาสถาบันการเงินมาอุ้มธนาคารที่ล้ม แบงก์ชาติควรพูดชัดเจนว่าถูกแทรกแซงหรือไม่
นายอรรถวิช กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลดำเนินการเช่นนี้ เป็นเพราะรัฐบาลทำให้กลไกประกันเงินฝากทำงานไม่ได้ เพราะเงินที่ธนาคารพาณิชย์นำไปจ่ายหนี้กองทุนพื้นฟูฯแทน ซึ่งจะทำให้เสียวินัยทางการเงิน เมื่อเปิดให้กองทุนฟื้นฟูฯกลับมาอีกเปิดช่องให้เอาภาษีประชาชนไปอุ้มสถาบันการเงินที่อาจต้องปิดตัวลงเหมือนในปี 2540 ซึ่งในขณะนี้มีความเป็นไปได้ว่าสถาบันการเงินของรัฐหลายแห่งขาดสภาพคล่องจากการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นจริงจะหนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เพราะในช่วงนั้นเป็นปัญหาจากสถาบันการเงินเอกชน แต่ถ้าเกิดปัญหาในช่วงนี้จะกลายเป็นสถาบันการเงินของรัฐเอง ทั้งนี้เห็นว่า การดำเนินนโยบายแบบนี้อันตราย ทำให้ประเทศเสี่ยงที่จะย้อนกลับไปเกิดปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 คือ รัฐต้องอุ้มสถาบันการเงิน ไม่ใช่แค่อุ้มเงินฝากของประชาชน