xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนอาหารให้เป็นยา ชะลอโรคไตเรื้อรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสูงถึง 7 ล้านคน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทาน เช่น อาหารที่มีรสเค็ม และอาหารที่มีโปรตีนสูง หลายคนอาจสงสัยว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารชนิดไหนเหมาะแก่การรับประทานและไม่ก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรัง

ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาการโรคไตเรื้อรังแย่ลง คือ การบริโภคอาหาร เช่น อาหารรสเค็ม และอาหารที่มีโปรตีนสูง สำหรับผู้ป่วยที่บำบัดทดแทนไตได้ด้วยการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองได้ที่บ้าน (CAPD) นั้น สามารถมีความสุขกับการรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของร่างกาย และปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง

“ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องส่วนใหญ่มักพบกับปัญหาในการรับประทานอาหาร ไม่สามารถรับประทานได้ครั้งละมากๆ เหมือนก่อนล้างไต เพราะความรู้สึกแน่นท้องจากการมีน้ำอยู่ในท้อง การสูญเสียโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ไปกับน้ำยาล้างไต ทำให้ผู้ที่ล่างไตทางช่องท้องอาจเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่ทำการล้างไตทางช่องท้องจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในการเลือกกินอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหาร โปรตีนและพลังงานที่เพียงพอต่อร่างกาย ซึ่ง ผศ.ดร.ชนิดา ได้แนะนำอาหารที่ผู้ป่วยควรรับประทาน ว่า ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารในหมวดเนื้อสัตว์ให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างภูมิคุ้มกัน เน้นการบริโภคปลา เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี ย่อยง่ายและไขมันต่ำ

ผศ.ดร.ชนิดา ยังได้แนะนำด้านอาหารที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง ว่า ผู้ป่วยไม่ควรบริโภคเนื้อสัตว์ไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น หนังเป็ด หนังไก่ และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ได้แก่ ไส้กรอก แฮม รวมถึงไม่ควรบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีรสเค็ม เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ไข่เค็ม และอาหารแช่แข็งด้วย หลีกเลี่ยงของหวานที่มีกะทิข้น ไม่ควรกินอาหารมื้อใหญ่ ควรแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ หลายมื้อ ในการเพิ่มปรุงรส อาทิเกลือ น้ำปลา น้ำตาล ควรอยู่ในการจำกัดปริมาณที่เหมาะสม ผู้ป่วยสามารถใช้สมุนไพรมาช่วยในการปรุงรสแทนได้ เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ข่า ตะไคร้ กระชาย ผักชี ขิง ใบแมงลัก เป็นต้น

ข้อดีของการจำกัดการรับประทานอาหารในผู้ป่วยโรคไตนี้คือ การจำกัดอาหาร และการกินอาหารให้ถูกต้อง เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายจะช่วยชะลอการเสื่อมของไต ไม่ให้เนื้อไตถูกทำลายมากขึ้น ยืดเวลาที่จะต้องล้างไตให้ช้าลง ลดการทำงานของไตในการขับถ่ายของเสีย ทำให้ไตส่วนที่เหลืออยู่ไม่ต้องทำงานหนักเกินตัวจนเข้าสู่ภาวะโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ รับประทานอาหารให้หลากหลายในแต่ละมื้อ และทานอย่างครอบคลุมกลุ่มข้าว เนื้อสัตว์ ผัก และ ผลไม้ งดการดื่มสุรา และ สูบบุหรี่ ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงสมุนไพร ทั้งในรูปแบบแคปซูล ยาน้ำ ยาชง ยาแผนโบราณ ยาจีนต่างๆ เนื่องจากจะทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง รวมทั้งยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจนในการชะลอการ เสื่อมของไต ความไม่สม่ำเสมอของปริมาณสารที่สกัดได้ การปนเปื้อนของสารระหว่างกระบวนการสกัด เช่น ปรอท เชื้อรา อาจเกิดอันตรายต่อไตอย่างรุนแรงได้ เพียงเท่านี้ก็หลีกเลี่ยง และชะลออาการของโรคไตเรื้อรังได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น