xs
xsm
sm
md
lg

สคร.7 เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานป่วยเบาหวานก่อนวัย งดฟาสต์ฟูด-น้ำอัดลม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 น.พ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี - แพทย์สำนักงานป้องกันควบคุมโรค อุบลฯ ออกโรงเตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิด ไม่ตกเป็นเหยื่อโรคเบาหวาน โดยงดกินฟาสต์ฟูด ขนมหวาน น้ำอัดลมมากเกินไป ขณะเดียวกันพบมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุป่วยตายมากเป็นอันดับ 1 แซงหน้าโรคเอดส์ วัณโรค แนะหากมีอาการร่างกายอ่อนแรงเฉียบพลันรีบพบแพทย์ภายใน 3 ชม. พร้อมงดดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารรสจัด

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาในระบบสาธารณสุขของโลก เพราะเป็นโรคที่ไม่ปรากฏอาการ แต่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนในอวัยวะสำคัญหลายระบบ เช่น ตา ไต หลอดเลือด จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ทำให้หัวใจขาดเลือดกลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง 2-4 เท่า และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย

สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติคาดการณ์ว่า แต่ละปีมีเด็กมากกว่า 70,000 คนพัฒนาสู่การเป็นโรคเบาหวาน โดยในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบมากที่สุด และเด็กที่เป็นเบาหวานจะมีอายุสั้นลงอีก 10-20 ปี สำหรับปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั้งหมด 6,855 คน หรือวันละ 19 คน

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันเบาหวานโลก” (World DiabetesDay) สำหรับการรณรงค์วันเบาหวานโลกปีนี้ คือ “Diabetes : protect our future” หรือ “พิทักษ์อนาคตไทย พ้นภัยเบาหวาน” โดยเน้นให้ความรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู บุคลากรสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย ประชาชนทั่วไป ดำเนินการป้องกัน

โดยเรียนรู้สัญญาณเตือนและสังเกตอาการเริ่มต้นของโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะมากกว่าปกติ กินจุแต่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง ดื่มน้ำมากผิดปกติ มีรอยดำรอบคอหรือใต้รักแร้ วิธีเลี่ยงการเกิดโรคเบาหวานคือ รับประทานอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ในสัดส่วนเหมาะสม รับประทานผักและผลไม้

งดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีรสหวาน รสเค็มมากเกินไป อาหารฟาสต์ฟูด ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ หรือน้ำอัดลม สนับสนุนส่งเสริมให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ควรให้เด็กนั่งดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์นานเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และควบคุมไม่ให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน

นพ.ศรายุธยังกล่าวถึงสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองขององค์การอัมพาตโลกว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของประชากรอายุมากกว่า 60 ปีทั่วโลก และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 5 ของประชากรที่มีอายุ 15-59 ปี โดยในแต่ละปีมีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองกว่า 6 ล้านคน หรือเฉลี่ย 1 คนต่อ 6 วินาที ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งองค์การอัมพาตโลกคาดการณ์ว่าปี ค.ศ. 2015 คนทั่วโลกจะเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 6.5 ล้านคน

สำหรับสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย สำนักนโยบายสุขภาพ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงาน 10 ลำดับแรกของการตายในประชากรไทยปี 2552 ตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองอันดับที่ 1 ทั้งในกลุ่มเพศหญิงและชาย สำหรับปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองคือ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง มีประวัติญาติสายตรงเคยเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกาย ภาวะน้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

ส่วนสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญคือ มีอาการอ่อนแรงของหน้าแขน ขาซีกเดียวอย่างทันทีทันใด สมองเกิดความสับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง การมองเห็นลดลง อาจเป็นตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง มีอาการมึนงง สูญเสียความสมดุลของการเดินอย่างทันทีทันใด ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้รีบไปโรงพยาบาลภายในเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อแพทย์จะได้ช่วยชีวิตและฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาปกติมากที่สุด

นพ.ศรายุธกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ควรลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายวันละ 15-30 นาทีเป็นประจำทุกวัน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าพบมีอาการโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะช่วยลดอัตราตาย และลดความพิการลงได้

กำลังโหลดความคิดเห็น