xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” แจงสอบทุจริตครุภัณฑ์อาชีวะ SP2-โยงคน ปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินวรณ์ - น.ส.นริศรา
“ดีเอสไอ” แจมปมทุจริตครุภัณฑ์ 5,300 ล้าน โยงอดีตรมตจากพรรค ปชป.ขีดเส้นให้สอบปากคำ 15 พ.ย.นี้ เผย พฤติกรรมโยงใยกำหนดแผน-ตั้งกรรมการความต้องการส่วนตัว ส่งสำนวน ป.ป.ช.ไต่สวนพร้อมขยายผลเพิ่มเติม ด้าน “พงศ์เทพ” มอบตรวจสอบข้อ กม.มีอำนาจสั่งพักราชการ 2 ขรก.ประจำที่ดีเอสไอชี้มูลมีเอี่ยว ขณะที่ “ชินวรณ์” พร้อมแจงดีเอสไอ โยนจัดซื้จัดจ้างเกิดสมัย “นริศรา” กำกับดูแลอาชีวะ

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงผลสรุปเบื้องต้นคดีทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา (เอสพี2) ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ในวงเงินงบประมาณ 5,300 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่า ผลสอบสวนพบมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ อดีต รมว.ศึกษาธิการ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ นายเจี่ยง วงศ์สวัสดิ์สุริยะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา และ นายบำรุง อร่ามเรือง ผอ.วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทั้งหมดร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ทำให้ สอศ.กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ พบมี 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.การแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิด หรือพวกพ้องของรัฐมนตรีเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ ในการจัดหาครุภัณฑ์ ให้เป็นไปตามความต้องการของตนเอง โดยเฉพาะ นายบำรุง อร่ามศรี 2.การจัดซื้อครุภัณฑ์ ที่มีราคาแพงเกินความจริง เช่น ครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าพื้นฐาน ราคาประมาณเพียงชุดละ 1 ล้านบาท แต่ตั้งราคาสูงถึง 3 ล้านบาท และจัดซื้อ 19 ชุด เป็นเงินกว่า 57 ล้านบาท ผู้ขายมีกำไรกว่า 38 ล้านบาท ซึ่งครุภัณฑ์ที่จัดสรรให้วิทยาลัยไม่มีคุณภาพ และไม่เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน 3.การจัดซื้อก็ไม่ได้สำรวจความต้องการครุภัณฑ์ของสถานศึกษาที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอน แต่กลับจัดครุภัณฑ์ให้กับสถานศึกษาโดยที่สถานศึกษาไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดสเปก และไม่ตรงกับวิชาการเรียนการสอน อีกทั้งยังไม่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับครุภัณฑ์นั้น 4.ผู้ประกอบการหรือผู้ขายสินค้าครุภัณฑ์ให้กับ สอศ.อยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนเป็นผู้กำหนดเท่านั้น อันเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญารายใดรายหนึ่ง โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และ 5.การตรวจรับครุภัณฑ์ ไม่ตรงตามสเปกหรือสัญญาซื้อขาย เช่น จุดเชื่อมวงจรไฟฟ้า ตามสเปก หรือสัญญากำหนดไว้เป็นทองคำแท้ เพื่อให้ครุภัณฑ์มีราคาสูงแต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นทองชุบเท่านั้น เหตุเกิดที่วิทยาลัยการอาชีพบ้านผือ จ.อุดรธานี และที่วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวข้างต้น เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง แต่จงใจฝ่าฝืนกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และ กระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ และไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการจัดซื้อจัดจ้าง ดีเอสไอจึงต้องส่งสำนวนคดีนี้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนต่อไป ทั้งนี้ ดีเอสไอส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.แล้ว แต่ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดให้ดีเอสไอยังสามารถสอบสวนต่อไปอีกได้ จนกว่า ป.ป.ช.จะมีมติอย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องสอบขยายผลไปยังบุคคลอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เบื้องต้นพบว่า 4 คน ที่ปรากฏรายชื่อถือเป็นหัวขบวนสำคัญ จึงต้องเชิญตัวให้ปากคำในฐานะผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 15 พ.ย.นี้ โดยดีเอสไอทำหนังสือแจ้งเจ้าตัวให้รับทราบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะมาหรือไม่” นายธาริต กล่าว
น.ส.ศศิธารา
ถามถึงกรณีความเชื่อมโยงถึงน.ส.ศศิธารา พิชัยชาญรณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะอดีตเลขาธิการ สอศ.หรือไม่นั้น เบื้องต้นดีเอสไอยังกันไว้พยาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ น.ส.ศศิธารา ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมพร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน ซึ่งดีเอสไอยังไม่ได้ตัดประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของผู้ใด รวมถึงไม่ตัดสิทธิ์ที่ ป.ป.ช.จะไต่สวนขยายผลไปยังบุคคลอื่นเพิ่มเติมด้วย

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.ประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสือจาก ดีเอสไอ แต่ยืนยันว่า พร้อมไปชี้แจงเพราะตนไม่ได้มีส่วนกับการทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา จริงอยู่ว่าตนเป็น รมว.ศึกษาธิการ ในช่วงที่มีการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา แต่ได้มอบให้ น.ส.นริศรา เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) การจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์อาชีวศึกษานั้น ตามกระบวนการถือเป็นเรื่องของ สอศ.มี เลขาธิการ สอศ.เป็นคนดูแลและขึ้นตรงกับ รมช.ศึกษาธิการ ตนไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะถือว่า รมช.ศึกษาธิการ เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน แค่ติดตามการดำเนินการเป็นระยะๆ เท่ากัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่นั้น การร้องเรียนยังไม่มีเข้ามา เพราะการจัดซื้อจัดยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ทั้งนี้ ตนยืนยัน ว่าพร้อมไปชี้แจ้ง และมั่นใจว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย” นายชินวรณ์ กล่าว

ด้าน นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อดีเอสไอแถลงผลสอบเบื้องต้นออกมาว่า มีข้าราชการประจำ 2 ราย คือ นายเจี่ยง วงศ์สวัสดิ์สุริยะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา และ นายบำรุง อร่ามเรือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตการขัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา ดังนั้น ก็จะต้องมาดูว่า ทั้ง 2 ราย ถูกตั้งกรรมการสอบสวนแล้วหรือยัง หากยังไม่มีการตั้งกรรมการสอบสวน ก็จะต้องตั้งขึ้นมาและให้การสอบสวนดำเนินการไปตามขั้นตอน เริ่มจากการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามด้วยการตั้งกรรรมการสอบวินัยในกรณีที่พบว่าผลการสอบมีมูล โดยต้องนำเอาผลสอบของดีเอสไอมาร่วมพิจารณาด้วย แต่ไม่ใช่ว่า ผลสอบดีเอสไอเป็นอย่างไร ผลการสอบของ ศธ.ก็จะต้องออกมาเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนตามจริง

อย่างไรก็ตาม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ได้สอบถามตนว่า เมื่อ ดีเอสไอ แถลงผลสอบเบื้องต้นมาเช่นนี้แล้ว ในส่วนของข้าราชการประจำ 2 ราย คือ นายเจี่ยง วงศ์สวัสดิ์สุริยะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา และ นายบำรุง อร่ามเรือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา นั้น ศธ.หรือ สอศ.มีอำนาจตามกฎหมาย สั่งทั้ง 2 รายให้พักราชการก่อน ในระหว่างการสอบสวนหรือไม่ ซึ่งตนกำลังทางฝ่ายนิติกรตรวจสอบดูอยู่ แต่ที่ผ่านมา จะใช้วิธีสั่งย้ายให้คนผิดออกจากตำแหน่งเดิม เพื่อป้องกันเจ้าตัวใช้อำนาจหน้าที่ ทำลายหลักฐาน ยังไม่เคยพบกรณีให้พักราชการไว้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น