xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ทุก 20 วิ มีเด็กตายจากปอดบวม 1 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! ทุก 20 วินาที จะมีเด็กตายจากปอดบวม 1 คน มากกว่าเอดส์ มาลาเรีย และหัดรวมกัน ไทยเร่งรณรงค์ให้ความรู้ป้องกัน แนะมีไข้สูงเกิน 3 วันควรพาไปพบแพทย์ ก่อนเสี่ยงเชื้อลุกลามจนเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ที่ปรึกษาชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย และอาจารย์พิเศษโรคระบบหายใจ รพ.รามาธิบดี กล่าวระหว่างแถลงข่าวรณรงค์ “วันปอดบวมโลก 2012” ว่า ปัจจุบันโรคปอดบวมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า เด็กเล็กทั่วโลกเสียชีวิตจำนวน 20 ล้านคนต่อปี โดยเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมมากถึงร้อยละ 18 หรือประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี หรือประมาณ 1 คนต่อ 20 วินาที ซึ่งมากกว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคหัดรวมกัน และยังพบด้วยว่าร้อยละ 99 ของเด็กที่เสียชีวิตอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าวอีกว่า WHO ได้จับมือกับองค์กรพันธมิตรวันปอดบวมโลก (World Pneumonia Day Coalition) จัดรณรงค์ “วันปอดบวมโลก” (World Pneumonia Day) โดยรณรงค์ให้ทุกประเทศให้ความรู้ในการป้องกัน เพื่อลดจำนวนเด็กเสียชีวิต ซึ่งในปีนี้ WHO เน้นรณรงค์ในเรื่อง “Fight Pneumonia, Save a Child” สำหรับประเทศไทยได้มีการรณรงค์ป้องกันโรคปอดบวมในเด็กเล็กมาอย่างต่อเนื่อง แต่พ่อแม่บางคนคิดว่าโรคปอดบวมเป็นโรคที่ไม่อันตราย และละเลยการป้องกัน จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตและพิการไม่ลดลง

โรคปอดบวมมักพบการแพร่ระบาดหนักในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงและหนาวเย็น พ่อแม่ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากมีอาการไข้หวัด ไอจาม มีไข้นานเกิน 3 วัน น้ำมูกไหล ต้องรีบพบแพทย์ แต่หากปล่อยให้เป็นหวัดเรื้อรัง เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังหูชั้นกลางและปอดได้ และอาจเกิดการติดเชื้อกลายเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคปอดบวมรุนแรง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด” ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าวด้วยว่า โรคปอดบวมจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงเด็กที่อยู่รวมกันในสถานที่ที่หนาแน่น เช่นโรงเรียนอนุบาล ด้านเด็กเล็กโดยเฉพาะในทารกที่ไม่สามารถพูดหรือบอกอาการได้ ผู้ปกครองสังเกตอาการจากอัตราการหายใจ ซึ่งในเด็กเล็กอายุกว่า 1 ปี หายใจเร็วมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที และเด็กเล็กที่อายุมากกว่า 1 ปี หายใจเร็วกว่า 40 ครั้งต่อนาที หรือหายใจหอบจนซี่โครงบุ๋ม หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ให้สงสัยว่าเด็กอาจเป็นโรคปอดบวม นอกจากนี้อาจจะมีไข้สูง ไม่กินนม และอาจจะมีอาการชักด้วย

รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีอย่างใกล้ชิด ในช่วงที่อากาศเปลี่ยน เพราะโรคปอดบวมรุนแรงเกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ ซึ่งเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคหูชั้นกลางอักเสบได้ เพาะจากสถิติพบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปีมากถึงร้อยละ80 มีโอกาสเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งหากในรายที่เป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดเป็นเยื่อแก้วหูทะลุ และเมื่อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดเป็นหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง มีหนองไหลออกจากหู และอาจทำให้สูญเสียการได้ยินได้ นอกจากนี้การอักเสบของหูยังสามารถลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เยื่อสมองอักเสบ และฝีในสมอง

รศ.พญ.อัจฉรา กล่าวอีกว่า พ่อแม่ควรให้ความสำคัญในการป้องกันโรคหูอักเสบในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นโรคที่สังเกตได้ยาก หากปล่อยจนเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบอาจทำให้มีผลกระทบด้านการสื่อสารของเด็กในระยะยาว ทั้งนี้ โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็กสังเกตได้จาก เด็กมีการร้องกวน งอแง เอามือจับหูบ่อยๆ หรือเอานิ้วแยงหูหรือไม่ยอมให้ผู้ปกครองจับบริเวณหู ควรนำเด็กไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในทารกควรเลี้ยงด้วยนมแม่ ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และสอนให้เด็กรู้จักกับสุขอนามัยที่ถูกต้อง รวมทั้งการฉีดวัคซีนต่างๆ ที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้ โดยในประเทศไทยวัคซีนไอพีดี ปอด-หูอักเสบยังเป็นวัคซีนทางเลือกเพราะยังเป็นวัคซีนที่มีความใหม่อยู่

อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-4 พฤศจิกายน 2555 พบผู้ป่วย 168,490ราย เสียชีวิต 1,074 ราย กลุ่มอายุ 65 ปีพบประมาณร้อยละ 24.1 อายุ 1 ปีพบร้อยละ 12.27 อายุ 2 ปีพบร้อยละ 8.43 ทั้งนี้ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด คือแม่ฮ่องสอน พบ 553.24 รายต่อแสนประชากร ฉะเชิงเทรา 542.17 รายต่อแสนประชากร รองลงมาคือ ตาก อ่างทอง และเชียงราย
กำลังโหลดความคิดเห็น