xs
xsm
sm
md
lg

สพศท.เตรียมฟ้องกรมบัญชีกลางออกประกาศไม่เป็นธรรม จำกัดสิทธิผู้ป่วยเกินไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพศท.เผย ร่างสำนวนฟ้องกรมบัญชีกลางออกประกาศไม่เป็นธรรมเสร็จแล้ว เหลือรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นต่อศาลปกครอง ด้านแพทยสภายันควรชะลอการใช้ทั้ง 3 ประกาศ เพราะจำกัดสิทธิผู้ป่วยเกินไป

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงการเตรียมฟ้องร้องกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กรณีออกประกาศ 3 ฉบับ คือ 1.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสิทธิข้าราชการต้องลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงไว้กับโรงพยาบาลเพียง 1 โรงพยาบาลต่อ 1 โรคเรื้อรัง 2.การระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่าย และ 3.การห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต หรือยาบรรเทาข้อเสื่อม ว่า จากการหารือกับเพื่อนร่วมวิชาชีพ พบว่า ประมาณ 1,000 คน เห็นว่า สมควรฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมให้ถึงที่สุด โดยขณะนี้ได้ร่างสำนวนฟ้องร้องเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงการรวบรวมรายชื่อว่ามีกี่คนที่จะยื่นชื่อฟ้องร้อง ซึ่งคาดว่าจะทราบจำนวนและวันเวลาในการยื่นฟ้องภายใน 1-2 สัปดาห์

ล่าสุด มีผู้พิพากษาท่านหนึ่งไปยื่นฟ้องศาลปกครองแล้ว แต่เราจะไปฟ้องอีก เพื่อให้รู้ว่ากรมบัญชีกลางออกประกาศละเมิดสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.51 ที่ระบุชัดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน” ประธาน สพศท.กล่าว

ด้าน ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เชิญตัวแทนกรมบัญชีกลาง แพทยสภา และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้าหารือเกี่ยวกับประกาศห้ามเบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟต แต่ผลการประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะชะลอหรือยกเลิกหรือไม่ เพราะกรมบัญชีกลางเพียงแค่รับฟังเท่านั้น ทั้งนี้ แพทยสภามองว่ายาบรรเทาข้อเสื่อมสามารถบรรเทาอาการในผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งได้จริง แต่ยังไม่มีงานวิจัยรองรับชัดเจน ดังนั้น ควรกำหนดเกณฑ์ให้ใช้ได้ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งมากกว่ายกเลิกไปเลย ส่วนประกาศอีก 2 ฉบับ แพทยสภาขอยืนยันเหมือนเดิมว่า ควรชะลอทั้งหมด และเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ออกประกาศทันทีทันใดเช่นนี้ เพราะดูเป็นการจำกัดสิทธิผู้ป่วยเกินไป อย่างการระบุเหตุผลมากมายหากจะใช้ยานอกบัญชียาหลัก เพราะอยากให้ใช้ยาในบัญชียาหลักฯก่อน จนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการข้างเคียงถึงจะเปลี่ยนยา ถือเป็นการตัดโอกาสการรักษาของผู้ป่วย
กำลังโหลดความคิดเห็น