xs
xsm
sm
md
lg

จัดสอบ NT ป.1-ม.3 ประเมินวิทยฐานะครู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.เดินหน้าประเมิน NT หวังเชื่อมโยงกับการประเมินวิทยฐานะครูแนวใหม่ พร้อมกำหนดให้เด็ก ป.1-3 ประเมินใน 3 ด้านหลัก ไม่จำเป็นต้องสอบทั้ง 8 กลุ่มสาระ ซึ่งเป็นภาระเด็กเล็ก ขณะที่ ป.4-5 ประเมินเพียง 5 กลุ่มสาระ ขณะที่ในส่วน ม.1-2 สพฐ.เล็งนำระบบอิเลกทรอนิกส์มาใช้จัดสอบหวังลดภาระค่าใช้จ่ายที่มูลค่าสูงถึง 300 ล้านบาท โดยเน้นเตรียมพร้อมเด็กสอบ O-Net
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือในการเตรียมความพร้อมในการจัดทดสอบระดับชาติ (NT : National Test) ในปีการศึกษา 2555 ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ เพื่อดูว่าผู้เรียนแต่ละช่วงชั้นจะได้มีพัฒนาการที่สอดคล้องกับช่วงวัยหรือไม่ และการประเมินผู้เรียนจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ สพฐ.จะนำมาใช้เพื่อประเมินวิทยฐานะของครูแนวใหม่ด้วย ทั้งนี้ สพฐ.ไม่ต้องการให้นักเรียนชั้นประถมต้น มีภาระในการสอบมากเกินไป จึงกำหนดว่า ในส่วนของชั้น ป.1-3 จะเน้นประเมินใน 3 ด้าน คือ 1.การอ่านออกเขียนได้ 2.การคิดเลข และ 3.ความสามารถด้านการคิดและการให้เหตุผล ซึ่งจะเป็นจุดที่ทำให้สามารถวัดพัฒนาการของผู้เรียนได้โดยไม่เป็นภาระให้เด็กเล็กๆ ที่จะต้องสอบถึง 8 กลุ่มสาระ สำหรับการประเมินในช่วงชั้นที่ 2 สพฐ.จะประเมินเฉพาะระดับชั้น ป.4-5 เท่านั้นจะเน้นไปที่ 5 กลุ่มสาระ คือ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ แต่ในส่วน ป.6 สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะดำเนินการประเมินโดยจัดการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) อยู่แล้ว

ขณะที่ระดับ ม.1-2 จะเน้นประเมินเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การสอบ O-Net ในชั้น ม.3 ซึ่งจะมีการประเมินทั้ง 8 กลุ่มสาระ แต่ สพฐ.จะมุ่งเน้นการบริหารการสอบของชั้น ม.1 และ ม.2 โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้มากที่สุด เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย เพราะการประเมินนักเรียนทั้งประเทศเป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่ายถึง 300 ล้านบาท ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริกหารการสอบ ตรงนี้เป็นความชัดเจนอีกขั้นที่เราจะมีการประเมินในระดับชาติของประเทศ เพิ่มเติมจากโอเน็ตที่มีการวัดใน 3 ชั้นปี คือ ป.6 ม.3 และ ม.6” นายชินภัทร กล่าวและว่า ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ สพฐ.จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะของครูในสายผู้สอนและศึกษานิเทศก์ ซึ่งจะเป็นการประเมินแนวใหม่ที่เน้นประเมินสมรรถนะครู โดยจะเชิญนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ มาร่วมหารือ เพื่อทำหน้าที่ในการประเมิน ซึ่งระยะต้นจะเริ่มจากสาขาที่มีความพร้อม คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยคาดว่าเดือนพฤศจิกายนนี้ จะได้ข้อสรุปในการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ที่เป็นรูปธรรมเพื่อจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น