เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จี้ รัฐบาลไทยเอาอย่างอินโดนีเซีย ประกาศซีแอลยาต้านไวรัสเอชไอวี 7 ตัว ชี้ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงยา เตือนสาธารณชนจับตาบริษัทยาข้ามชาติจับมืออุตสาหกรรมส่งออกกุ้ง-ไก่ ให้ข้อมูลเอฟทีเอ ไทย-อียู ผิดๆ
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ลงนามในประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ (ซีแอล) กับยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ และไวรัสตับอักเสบ ทั้งสิ้น 7 ตัว เพื่อให้อุตสาหกรรมยาในประเทศสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นไปตามมาตรการยืดหยุ่นในความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือทริปส์ในองค์การการค้าโลก ว่า ยินดีกับเพื่อนผู้ติดเชื้อฯที่อินโดนีเซีย เพราะการประกาศครั้งนี้มีทั้งยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน สูตรสำรอง และยารักษาไวรัสตับอักเสบ หลายตัวมีราคาแพงมาก ทำให้ผู้ติดเชื้อฯจำนวนมากเข้าไม่ถึงยา สำหรับประเทศไทย รัฐบาลควรพิจารณาทำซีแอลกับยารักษามะเร็งที่ยังมีราคาสูงมาก ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษา และขอชื่นชมรัฐบาลอินโดนีเซียที่มีความกล้าหาญทางนโยบายที่จะทำเพื่อประชาชน อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียอาจจะเผชิญกับแรงกดดันจากบรรษัทยาข้ามชาติและประเทศร่ำรวย ทั้ง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีแทกติกและเล่ห์กลมากมาย เช่นที่ประเทศไทยเคยเจอมาแล้ว ดังนั้น รัฐบาลไทยควรเรียนรู้จากความกล้าหาญทางนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ทำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสมครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งอยากเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรป
“มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่ต้องการการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งจนถึงขณะนี้ทั้ง รองนายกฯกิตติรัตน์ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพยายามบิดเบือนข้อมูล และไม่เปิดโอกาสให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ อย.ได้ให้ข้อมูล ซึ่งอาจทำให้นายกฯ และรัฐสภาตัดสินใจอย่างผิดๆ ได้ นอกจากนี้ เรายังทราบมาว่า สมาคมบริษัทยาข้ามชาติจับมือกับอุตสาหกรรมส่งออกไก่-กุ้ง แล้วใช้ชื่อสภาหอการค้าไปเที่ยวล็อบบี้และให้ข้อมูลอย่างผิดๆกับภาคส่วนต่างๆ สาธารณชนต้องช่วยกันจับตา” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าว