xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” หนุนไทยร่วมข้อตกลงทริปส์ใช้ CL ผลิตและส่งออกยาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์” หนุนวงการยา-สาธารณสุขไทย ยอมรับแก้ไขความตกลงทริปส์ด้านสาธารณสุข ภายใต้ WTO เหตุไทยจะได้ประโยชน์จากการประกาศใช้ CL ผลิต และส่งออกยาที่ยังมีสิทธิบัตรคุ้มครอง เป็นการขยายตลาดส่งออกยาไทยให้มากขึ้น

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “พิธีสารแก้ไขความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ทริปส์) ด้านสาธารณสุข” ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ว่า เป็นการทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องการยอมรับการแก้ไขความตกลงทริปส์ ที่จะมีผลทำให้ประเทศสมาชิก WTO รวมถึงไทย สามารถประกาศบังคับใช้สิทธิผลิตยาที่ยังมีสิทธิบัตรคุ้มครอง (CL) เพื่อการส่งออก ขณะที่ประเทศที่ต้องการได้รับยาสามัญ สามารถประกาศนำเข้ายาที่ผลิตภายใต้ CL ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป

“การที่ไทยยอมรับการแก้ไขความตกลงดังกล่าว จะได้ประโยชน์จากการสามารถประกาศใช้สิทธิ CL ผลิตและส่งออกยาที่ยังมีสิทธิบัตรคุ้มครองได้ เช่น ยารักษาโรคเอดส์ ยารักษาโรคหัวใจ จากเดิมที่การใช้สิทธิ CL จะต้องทำด้วยเหตุผล เช่น เกิดโรคระบาดในประเทศ หรือผลิตใช้ในประเทศเท่านั้น ถือเป็นการขยายตลาดการส่งออกยาของไทยให้มากขึ้น” นายยรรยงกล่าว

ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้แล้ว กระทรวงพาณิชย์จะนำประเด็นดังกล่าวเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย อย่างที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เพราะพิธีสารดังกล่าวไม่เข้าตามวรรค 1 และ 2 ของมาตรา 190 คือ ไม่ได้เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจ หรือไม่ได้เป็นหนังสือสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ

การแก้ไขความตกลงดังกล่าว นายปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ได้พยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมาชิกให้การยอมรับ และมีการแก้ไข แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เพราะมีข้อกำหนดว่า ความตกลงฯจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อสมาชิกดับบลิวทีโอ 2 ใน 3 หรือประมาณ 105 ประเทศให้การยอมรับ จากสมาชิกทั้งหมด 157 ประเทศ ซึ่งล่าสุดมีสมาชิกยอมรับแล้วเพียง 70 ประเทศเท่านั้น เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย บราซิล ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากไทยยอมรับความตกลงแล้วจะทำให้ประเทศอื่นที่ต้องการให้ไทยผลิตยาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง สามารถประกาศใช้ CL และออกใบอนุญาตนำเข้ายาที่ไทยผลิตโดยใช้ CL ได้ ขณะที่ไทยก็จะส่งออกยาที่ผลิตโดยใช้ CL ได้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ประเทศสมาชิกยอมรับครบ 2 ใน 3
กำลังโหลดความคิดเห็น