กรมวิทย์พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างใน เก๋ากี้ ดอกไม้จีน เยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอม เกินค่ามาตรฐาน สธ.เตือนก่อนนำไปปรุงเป็นอาหารเจ ควรทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณสารพิษ
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลกินเจ อาหารส่วนใหญ่มักปรุงโดยมีการใส่ผักแห้งหลายชนิด อาทิ เก๋ากี้ ดอกไม้จีน เยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอม ซึ่งมักมีการใช้สารฟอกขาวเพื่อป้องกันและยับยั้งการเจริญเติบโตของยีสต์ รา บักเตรี รวมทั้งยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาล โดยสารฟอกขาวที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulphur dioxide) ทั้งนี้ หากร่างกายได้รับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณที่มากเกินกว่าค่าความปลอดภัย อาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือผู้แพ้สารนี้ จะทำให้หายใจขัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อุจจาระร่วง เป็นลมพิษ ความดันโลหิตต่ำ อาจช็อกหมดสติและเสียชีวิตได้ ซึ่งคณะกรรมการ JECFA (Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประเมินความปลอดภัยของการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ได้กำหนดค่า ADI (Acceptable Daily Intake) ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์เท่ากับ 0.7 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคต่อวันแล้วไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติกับผู้บริโภค
นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างเก๋ากี้ ดอกไม้จีน เยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว และเห็ดหอม มาตรวจวิเคราะห์รวม 57 ตัวอย่าง พบว่า มีการตกค้างของสารฟอกขาวซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตัวอย่างเหล่านี้ โดยเฉพาะดอกไม้จีน และเยื่อไผ่ พบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงเกินมาตรฐานตามที่กำหนดโดย สธ.
ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ศึกษาวิธีการลดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพืชและผักแห้ง เพื่อความปลอดภัยก่อนนำมาประกอบอาหาร พบว่า การนำดอกไม้จีนและเห็ดหูหนูขาวมาล้างน้ำสะอาดแล้วลวกในน้ำเดือด 2 นาที ก่อนปรุงอาหารสามารถลดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ร้อยละ 90 สำหรับเม็ดเก๋ากี้ ล้างด้วยน้ำประปาในอัตราส่วน 1 : 200 โดยน้ำหนัก (เก๋ากี้ 10 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตร) จำนวน 3 ครั้ง แล้วลวกด้วยน้ำร้อนในอัตราส่วนเดียวกัน ก่อนปรุงโดยการต้มกับน้ำอัตราส่วน 1: 50 โดยน้ำหนัก (เก๋ากี้ 10 กรัมต่อน้ำครึ่งลิตร) พบว่า ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเนื้อเก๋ากี้ลดลงร้อยละ 98 เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างเก๋ากี้ที่ไม่ได้ล้างก่อนต้มวิธีการดังกล่าวสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น