เตือน! ท่านั่งทอไหมพรมเสี่ยงอาการปวด เมื่อยล้ากล้ามเนื้อ กระดูกโครงร่าง ด้านช่างทอรู้ท่าทางปฏิบัติที่ถูกต้องระดับต่ำ รพ.สต.กุดยมเล็งทำคู่มือท่านั่งทอที่ถูกหลักการยศาสตร์
นายเฉลิมชัย เพชรเทศ นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กุดยม อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “การประเมินท่าทางการทำงานของผู้ทอไหมพรม ต.กุดยม อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ” ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2555 ว่า จากการวิจัยได้ทำการสุ่มตัวอย่างผู้รับบริการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับการใช้ยาแก้ปวดจากการเจ็บป่วยจากระบบกล้ามเนื้อโครงร่างในปี 2553 จำนวน 91 ราย จาก 503 ราย โดยดำเนินการวิจัยด้วยการสัมภาษณ์ แบบทดสอบความรู้และแบบประเมินความเสี่ยงจากท่าทางการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งยึดอาชีพทอหมวกไหมพรมเป็นประจำ พบว่า ด้านความเสี่ยง 1.ท่าทางของแขนและมือในขณะทํางาน อยู่ในระดับความเสี่ยง ระดับ 3 คิดเป็นร้อยละ 85 หมายถึง งานนั้นเริ่มเป็นปัญหาควรทําการศึกษา เพิ่มเติมและรีบดําเนินการปรับปรุงลักษณะงาน และ 2.ท่าทางของศีรษะ คอ ลําตัว ขาและเท้า อยู่ในระดับความเสี่ยงระดับ 2 คิดเป็นร้อยละ 80 หมายถึง ควรได้รับการพิจารณา การศึกษาละเอียดขึ้นและติดตามวัดผลอย่างต่อเนื่อง
นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า จากการสัมภาษณ์และสาธิตท่าทาง พบว่า ท่าทางการทํางานของผู้ปฏิบัติงาน มีหลายท่าทาง เช่น ท่านั่งแล้วใช้มือเอื้อมดึงเส้นไหมจากตัวส่งเส้นไหม โดยท่าทางที่สาธิตมีผลต่อการเกิดอาการปวด เมื่อยล้ากล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่าง และด้านความรู้ของผู้ประกอบอาชีพ พบว่า มีความรู้ในการปฏิบัติท่าทางที่ถูกต้อง อยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 88.9
“จากงานวิจัยสรุปได้ว่าท่าทางการทํางานกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ต้องรีบแก้ไข จึงควรดําเนินการส่งเสริมให้คําแนะนําเกี่ยวกับท่าทางการทํางานแก่ผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว โดยได้จัดทําคู่มือการทํางานเกี่ยวการนั่งทอหมวกไหมพรมที่ถูกหลักการยศาสตร์ของ ต.กุดยม และจัดอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มตัวอย่าง สามารถนําไปใช้กับกลุ่มอาชีพดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจากการทอหมวกไหมพรมต่อไป” นักวิชาการสาธารณสุข กล่าว
นายเฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันปัญหาการเจ็บป่วยเนื่องจากท่าทางการทํางานไม่เหมาะสม ทําให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งปัญหาเรื่องการเจ็บป่วย การสูญเสียเวลา และสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จากข้อมูลของรพ.สต.กุดยม พบว่า มีผู้มารับบริการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับการใช้ยาแก้ปวดจากการเจ็บป่วยจากระบบกล้ามเนื้อโครงร่างในปี 2553 จำนวนมาก การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพการเจ็บป่วยที่เกิดจากการจากท่าทางการทํางานที่ไม่เหมาะสม ศึกษาถึงความรู้ของผู้ประกอบอาชีพทอไหมพรมที่เกี่ยวกับท่าทางในการทํางานที่ถูกหลักการยศาสตร์