ผลสำรวจตบหน้ารัฐบาล พบเด็กไทยขาดสารอาหาร นักโภชนาการ ชี้ เทงบค่าอาหารกลางวันให้ อปท.น้อยไป ตกหัวละ 13 บาท แนะเพิ่มเป็น 15-20 บาทต่อคน เล็งเสนอ “ยิ่งลักษณ์” แก้ปัญหาปลายปีนี้ก่อนเข้าประชาคมอาเซียน
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นายสง่า ดามาพงษ์ อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวในการประชุมวิชาการโภชนการแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ว่า การพัฒนาอาหารให้ได้คุณภาพมีความปลอดภัย แม้จะเป็นเรื่องสำคัญในแง่ของการส่งออกเพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 แต่ในแง่ภายในประเทศไทยแล้ว จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้คนไทยได้รับอาหารที่ดีและปลอดภัยจริงๆด้วย แต่ปัญหา คือ ปัจจุบันเด็กไทย ซึ่งเป็นอนาคตของชาติยังได้รับอาหารไม่เพียงพอ หากปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก หรือครัวของระดับอาเซียนก็คงยาก
นายสง่า กล่าวว่า ข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า เด็กก่อนวัยเรียนมีปัญหาขาดสารอาหารถึงร้อยละ 25 ขณะที่ 7 ปีที่ผ่านมา พบเพียงร้อยละ 10 ขณะที่เด็กในวัยเรียนมีปัญหาขาดสารอาหารร้อยละ 20 นอกจากนี้ ยังพบว่า การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกหลักโภชนการยังทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบจะเป็นผู้ใหญ่อ้วนได้ถึงร้อยละ 50 ส่วนเด็กวัยเรียนจะเป็นผู้ใหญ่อ้วนได้ร้อยละ 80
“หากจะพัฒนาในระดับอาเซียนจึงอยากวอนรัฐบาลให้ความสนใจในการบริโภคอาหารที่เหมาะสม มีคุณค่าของสารอาหารในเด็กเล็กก่อน โดยควรเพิ่มค่าอาหารกลางวันจากปัจจุบันให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศอยู่ราว 7,000 ล้านบาท ตกคนละ 13 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ควรเพิ่มเป็น 15-20 บาทต่อคน แต่การเพิ่มงบฯดังกล่าวค่อนข้างยากและล่าช้า ผมได้เข้าไปศึกษาและพูดคุยกับทางชุมชน โดยนำร่องใน 9 จังหวัด คือ สมุทรปราการ นนทบุรี เพชรบุรี อุดรธานี ขอนแก่น สงขลา ภูเก็ต เชียงใหม่ และลำปาง ในการเพิ่มงบอาหารกลางวันให้เด็กกันเองภายในชุมชน ซึ่งจะมีการประเมินการทำงานดังกล่าว และจะเสนอข้อมูลดังกล่าวให้แก่นายกรัฐมนตรี พิจารณาภายในสิ้นปีนี้” นายสง่า กล่าว