“หมอสุรวิทย์” โว รพร.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ดังสุดในไทยเรื่องผ่าตัดนิ่วถุงน้ำดีผ่านกล้อง เผย คนลาวแห่ข้ามโขงปีละกว่า 600 ราย เพื่อเข้าใช้บริการ เล็งยกเป็นโรงพยาบาลทั่วไป และศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคกระดูกและข้อประจำชายแดนภายใน 3-5 ปี
วันนี้ (5 ต.ค.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานสาธารณสุขแก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลหนองคาย และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย ว่า สธ.มีนโยบายดูแลสุขภาพของประชาชนที่อยู่ตามแนวบริเวณชายแดนทั้งหมด 30 จังหวัด ให้มีสุขภาพดี ปราศจากโรค และหากเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาที่ดี มีคุณภาพ มาตรฐานเท่าเทียมกันทุกคน โดยมีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการควบคุมป้องกันโรค รวมทั้งอาหารและยาที่ไม่ปลอดภัยตามแนวชายแดนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง พบว่า มีความก้าวหน้าในการพัฒนาหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยีในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างทันสมัยควบคู่กันไป สร้างความสะดวกให้ประชาชนตามแนวชายแดนได้รักษาใกล้บ้าน อย่างเช่น ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 150 เตียง อยู่ติดชายแดน ที่พัฒนาระบบบริการ ความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเรียกว่า คุณภาพคับแก้ว โดยมีแพทย์เฉพาะทางครบสาขาหลัก ได้แก่ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ และสูตินรีแพทย์ มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดรักษาโรคนิ่วถุงน้ำดี นิ่วทางเดินปัสสาวะ ที่ทันสมัยโดยผ่านทางกล้องวิดีทัศน์มากที่สุดในประเทศไทย ปีละ 500-600 ราย บาดแผลเล็กมากผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็ว
“ภายใน 3-5 ปีนี้ สธ.มีแผนที่จะพัฒนา รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 200 เตียง เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น โรคกระดูกและข้อ ศูนย์ผ่าตัดนิ่วซึ่งเป็นปัญหาของคนอีสาน ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเข้าเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 และเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง โดยจะให้เป็นต้นแบบกับพื้นที่อื่นๆ” รมช.สาธารณสุข กล่าว
นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สามารถทำการรักษาผ่าตัดโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะหรือนิ่วไตปีละ 700 ราย และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพก ประมาณ 100 ราย ผ่าตัดกระดูกสันหลังปีละ 300 ราย โดยสามารถนัดและทำการผ่าตัดได้ภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์ ถือว่าเร็วมากหากเทียบกับโรงพยาบาลอื่นๆ บางแห่งต้องรอคิวนานถึง 2 ปี
“ผลจากการพัฒนาที่กล่าวมา ทำให้โรงพยาบาลมีชื่อเสียง และเป็นที่นิยมศรัทธาของประชาชนจากประเทศลาว เดินทางเข้ามารักษาโรคทั่วไปปีละ 5,000-6,000 รายต่อปี และเข้ามาผ่าตัดนิ่วถุงน้ำดีปีละกว่า 600 ราย ค่ารักษาพยาบาลเท่าคนไทย ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน 3-10 เท่าตัว สร้างรายได้เข้าประเทศ สามารถนำเงินมาพัฒนาโรงพยาบาลได้อย่างต่อเนื่อง” รมช.สาธารณสุข กล่าว