xs
xsm
sm
md
lg

พยาบาล รพ.มหาราชฯ เจ๋งคิดนวัตกรรมใหม่ ใช้ “ถุงเพิ่มความดันและเซ็ตเลือด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไอเดียเจ๋ง! รพ.มหาราชนครราชสีมา ใช้ “ถุงเพิ่มความดันและเซ็ตเลือด” ทำอุปกรณ์แทนเครื่องควบคุมการดูดจ่ายน้ำในช่องท้อง เผย มีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน ช่วยลดค่าใช้จ่าย และลดการประกอบอุปกรณ์ที่ยุ่งยาก พร้อมขยายผลใช้กับการผ่าตัดผ่านกล้องในผู้ป่วยทุกราย

ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2555 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย.2555 มีการนำเสนอนวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์ “การประยุกต์อุปกรณ์ใช้แทนเครื่องควบคุมการดูด หรือจ่ายน้ำภายในช่องท้อง (High Pressure Irrigation)” โดยนางอัจฉราวรรณ ทิพยรักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการประจำห้องผ่าตัด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า การผ่าตัดทางศัลยกรรมทั่วไปมีความยุ่งยากซับซ้อน จึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการผ่าตัดมากขึ้น โดยเฉพาะการผ่าตัดผ่านกล้องทางช่องท้อง ซึ่งช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก การปวดแผลลดลง ลดระยะเวลานอนโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย แต่ทางโรงพยาบาลต้องซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์เฉพาะในการผ่าตัดผ่านกล้องและมีราคาแพงมาใช้ เมื่อเครื่องมือชำรุดหรือเปิดผ่าตัดพร้อมกันหลายห้องทำให้เครื่องมือไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเครื่องควบคุมการดูดหรือจ่ายน้ำในช่องท้อง (Irrigation)

“ขณะที่ผ่าตัดอาจมีเลือดออกหรือถุงน้ำดีไหลรั่ว จึงมีการล้างช่องท้องด้วยเครื่อง Irrigation แต่พบว่ามักมีปัญหาในเรื่องของการประกอบอุปกรณ์ที่ยุ่งยาก การแทงเข็มมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ เสี่ยงต่อการติดเชื้อของผู้ป่วย และเครื่อง Irrigation นั้นจะคุมด้วยความดัน หากมีการรั่วจะทำให้น้ำพุ่งกระจาย และคนไข้มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้ ชุดสายยางที่ใช้แล้วต้องผ่านการล้างและเป่าให้แห้ง จากนั้นจึงอบด้วยแก๊ส ซึ่งใช้เวลา 1-2 วัน จึงจะสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอุปกรณ์อยู่บ่อยครั้ง จึงคิดนวัตกรรมใหม่ เพื่อหาอุปกรณ์มาใช้แทน” นางอัจฉราวรรณ กล่าว

นางอัจฉราวรรณ กล่าวอีกว่า การพัฒนาอุปกรณ์ใช้แทนเครื่อง Irrigation นั้น ต้องศึกษาเครื่องควบคุมการดูดจ่ายน้ำก่อน ซึ่งอุปกรณ์เดิมพบว่าต้องใช้แรงดัน 200 mmHg. ในการขับสารน้ำให้ได้ 250 มิลลิลิตรต่อนาที จึงจัดหาอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานแทนเครื่องมือได้ คือ ถุงเพิ่มความดัน (Pressure bag) และเซ็ตให้เลือด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีประจำอยู่ในห้องผ่าตัดอยู่แล้วมาประกอบใช้แทน ซึ่งจากการทดสอบพบว่า เมื่อบีบถุงเพิ่มความดันที่ 200 mmHg. แล้ว ปริมาณน้ำที่ไหลออกมาได้ใกล้เคียงกับอุปกรณ์เดิม คือ 250 มิลลิลิตรต่อนาที

“จากการทดสอบประสิทธิภาพสิ่งประดิษฐ์ โดยการเปรียบเทียบการใช้งานจำนวน 30 ราย โดยการวัดปริมาตรน้ำที่ไหลออกจากเครื่องและอุปกรณ์ประยุกต์ต่อนาที พบว่า ความแรงและปริมาตรของน้ำไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีการให้ศัลยแพทย์ประเมินการใช้งานในแง่ต่างๆ พบว่า ให้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ สะดวกต่อการใช้งาน เมื่อใช้แล้วสามารถทิ้งได้ทันที ไม่ต้องนำกลับมารียูสใหม่เหมือนอุปกรณ์ตัวเดิม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบราคาต่อการใช้งานหนึ่งครั้งแล้ว พบว่า การนำมารียูสต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 100 บาทต่อครั้ง ส่วนอุปกรณ์ใช้แทนราคาวัสดุในการซื้อใหม่อยู่ที่ 30-35 บาทต่อครั้งเท่านั้น ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่โรงพยาบาล” นางอัจฉราวรรณ กล่าว

นางอัจฉราวรรณ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ทางโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้นำอุปกรณ์ใช้แทนดังกล่าวมาใช้ในการผ่าตัดผ่านกล้องในผู้ป่วยทุกรายแล้ว และขยายผลไปยังการผ่าตัดผ่านกล้องทางทรวงอก ศัลยกรรมเด็ก และศัลยกรรมระบบปัสสาวะด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น