xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยตบหน้ารัฐบาล ช่วงน้ำท่วมช่วยผู้สูงอายุไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผลวิจัยตบหน้ารัฐบาล เยียวยาน้ำท่วมในผู้สูงอายุไม่ได้เรื่อง พบของในถุงยังชีพไม่ตรงความต้องการ ส้วมลอยน้ำไม่ได้ใช้ แนะจัดบริการเฉพาะกลุ่ม อำนวยความสะดวกพร้อมจัดทำแผนที่เพื่อช่วยเหลือทันท่วงที

วันนี้ (13 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ในงานประชุมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2555 ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน มีการนำเสนอผลงานวิจัยของข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวนกว่า 800 ผลงาน โดย น.ส.สุวราภรณ์ โพธิ์ร่มเย็น พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทำงานวิจัยร่วมกับจุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “วิกฤตมหาอุทกภัยกับผู้สูงอายุ : บทเรียนที่ต้องหาทางออก” ว่า จากผลการศึกษาสถานการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 ที่ผ่านมา ในกลุ่มตัวอย่างของผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 76 ตัวอย่าง ตั้งแต่เดือน พ.ย.- ธ.ค.2554 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทั้งที่ท่วมประจำทุกปีและท่วมไม่ประจำ ใน 3 ตำบล ได้แก่ ลุมพลี ประตูชัย และบ้านกุ่ม พบว่า ปัญหาที่ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบในเหตุการณ์น้ำท่วมและควรได้รับการดูแลพิเศษ คือ เรื่องการได้ถุงยังชีพที่ไม่ตรงกับความต้องการ

“ตอนที่หน่วยงานต่างๆ นำถุงยังชีพมาแจกนั้น ของที่อยู่ในถุงไม่ตรงกับความต้องการ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรัง ทำให้รับประทานไม่ได้ ผ้าอนามัยก็ไม่ได้ใช้ เนื่องจากหมดวัยประจำเดือนไปแล้ว ผักกาดกระป๋องแข็งเกินไป ปลากระป๋องก็กินลำบาก ส่วนส้วมลอยน้ำก็นั่งไม่ได้ เนื่องจากกระแสน้ำทำให้ส้วมโยกไปโยกมา ต้องถ่ายใส่ถุงแทน ทั้งนี้ เรื่องยารักษาโรคที่แจกมาก็ยังไม่ตรงกับโรค” น.ส.สุวราภรณ์ กล่าว

น.ส.สุวราภรณ์ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้จากการสำรวจเชิงลึก พบว่า สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการมากที่สุดในถุงยังชีพ คือ เครื่องดื่มประเภทพร้อมชงสำเร็จรูป วิทยุ ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน และยารักษาโรคเฉพาะของแต่ละคน ที่สามารถกินได้หลายเดือนเพื่อจะได้กินยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังพบว่าเรื่องของการเยียวยาเองในกลุ่มผู้สูงอายุก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากถ่ายรูปไม่ได้ทำให้ต้องจ้างคนอื่นมาทำแทน ซึ่งก็ส่งผลให้ล่าช้า อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นอีก ตนอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุเป็นพิเศษ เช่น อยากให้มีเรือประจำแต่ละหมู่บ้านเพื่อจะได้คอยอำนวยความสะดวกในการเดินทางมารับของที่จุดช่วยเหลือ และควรมีการจัดทำแผนที่ที่อยู่ของผู้สูงอายุเพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแบบเฉพาะกลุ่ม โดยส่วนใหญ่เวลาน้ำท่วมผู้สูงอายุจะอยู่บ้านคนเดียวเนื่องจากลูกหลานอพยพไปอยู่ที่อื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น