xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจี้รัฐผลักดันมาตรการควบคุมน้ำเมา ออก กม.ใหม่ๆ เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นักวิชาการ” กระตุ้นรัฐผลักดันมาตรการควบคุมปัญหาน้ำเมา วอนออกกฎหมายใหม่เพื่อปิดช่องโหว่ พร้อมถอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากการเจรจาการค้าเสรี

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเวทีแถลงมติข้อเสนอเกี่ยวกับ “นโยบายแอลกอฮอล์เพื่ออนาคตเยาวชนไทย” เพื่อให้คณะรัฐมนตรี พิจารณา โดยข้อเสนอที่เกี่ยวข้อง คือ เร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนากฎหมายใหม่ต่อยอดและปิดช่องว่าง เช่น การขึ้นภาษี ให้เต็มเพดาน และข้อเสนอให้ถอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการสาธารณสุข พัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า ข้อมูลทางวิชาการแสดงให้เห็นว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจในมูลค่าสูงกว่าผลประโยชน์ที่สังคมได้ในรูปแบบของภาษี หรือการจ้างงาน พูดง่ายๆ คือ สังคมได้ไม่คุ้มเสีย แม้แต่องค์กรทางเศรษฐกิจอย่างธนาคารโลกเอง ก็ได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ ใช้มาตรการในการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป และไม่แนะนำให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน การผลิต การทำการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“เยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น สภาที่ปรึกษาฯจึงเสนอแนะต่อรัฐบาล ต้องเจรจาการค้าระหว่างประเทศอย่างฉลาด ไม่นำไปสู่การลดภาษีแอลกอฮอล์ หรือมีผลต่อการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะของประเทศไทย จะส่งผลเสียด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่สามารถห้ามไม่ให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในประเทศได้ แต่สิ่งที่ต้องทำ คือ การกำหนดขอบเขตการเข้าถึงของกลุ่มเยาวชน ลดสิ่งกระตุ้นรวมถึงการส่งเสริมผู้ที่มีหน้าที่ดูแลกฎหมายให้มีกำลังใจในการทำงานส่วนผู้ที่ปล่อยให้มีการฝ่าฝืนก็ต้องมีบทลงโทษ”ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ กล่าว

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ สป. กล่าวว่า สังคมไทยยังคงมีเรื่องน่าเป็นห่วง คือ การดื่มของเยาวชน ทั้งอายุที่เริ่มดื่ม รูปแบบ และปริมาณการดื่ม เยาวชนไทยหาซื้อสุราได้ง่าย ในราคาถูก ดื่มในปริมาณสูง และยังถูกล้อมด้วยแรงโฆษณา โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนหญิงที่มีทิศทางปัญหารุนแรงขึ้นชัดเจนกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขปัญหาจะบานปลาย และส่งผลเสียต่อสังคมในอนาคต ทั้งการเสียชีวิต การเจ็บป่วย การพิการ การเสียอนาคตทางการเรียน จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายและป้องกันปัจจัยใหม่ๆ ที่จะเข้ามาชักจูงเยาวชน นอกจากนี้ การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไม่ควรรวมสินค้าที่มีผลร้ายต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่และแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ดี ไม่อยากให้มองว่าเป็นการขัดขวางการเจรจาแต่อยากให้ทบทวนอย่างรอบด้านเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ และส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ

ด้าน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ป้องกันและหลีกเลี่ยง หากมีมาตรการที่ได้ผลและคุ้มค่าและได้รับการพิสูจน์ทางวิชาการจากนานาประเทศ ได้แก่ 1.การเพิ่มภาษีทำให้ราคาไม่ถูกเกินไป 2.การควบคุม วัน เวลา และ สถานที่ขาย การจำกัดอายุผู้ซื้อ 3.ควบคุมโฆษณา ซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มาตรา 32 ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งเนื้อหาและการบังคับใช้ ทำให้ปัจจุบันเยาวชนไทยถูกล้อมด้วยโฆษณา ทั้งโฆษณาตรงและแฝง และการทำการตลาดในทุกช่องทาง ซึ่งที่น่าเป็นห่วงผู้หญิงเริ่มดื่มมากขึ้น

นายอัครพงษ์ บุญมี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนงดเหล้า สคล.กล่าวว่า เยาวชนไทยถูกมอมเมาด้วยกลยุทธ์การตลาด มีเครื่องดื่มที่เจาะจงการตลาดไปที่วัยรุ่น ทั้งเหล้าปั่น เหล้าผสมน้ำผลไม้ ค็อกเทล สารพัดรูปแบบ ทุกวันนี้ การตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น พุ่งเป้าไปที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ รุกหนักทั้งการตลาดการโฆษณาในสื่อกระแสหลัก การตลาดแบบสร้างภาพองค์กร ด้วยกิจกรรมซีเอสอาร์ และการให้การสนับสนุนกิจกรรมดนตรี กีฬา วัฒนธรรม มติของสภาที่ปรึกษาฯครั้งนี้จึงเป็นแนวทางที่น่าชื่นชมและตั้งอยู่บนข้อมูลวิชาการ สังคมไทยควรจับตาดูว่า หลังจากเสนอมติไปให้รัฐบาลแล้วจะมีดำเนินการต่ออย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น