สาวๆ เฮ! รพ.สต.นาประดู่ศึกษาพบ ดื่ม “ชาชงตะไคร้แทรกเกลือ” วันละถ้วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ ด้าน แพทย์แผนไทย มอ.เสนอ “นวดกระเบนเหน็บ” ได้ผลดีเช่นกัน ลดการใช้ยา
น.ส.แวฮาลีเม๊าะ หะยีดจ๊ะเต๊ะ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เสนอผลการศึกษาวิจัย เรื่อง “ผลของชาชงตะไคร้แทรกเกลือต่อการลดอาการปวดท้องประจำเดือน” ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2555 ว่า ปัจจุบันมีกลุ่มสตรีจำนวนมากประสบปัญหาปวดท้องเวลามีประจำเดือน จากการสอบถาม อ.ประกอบ อุบลขาว แพทย์แผนไทยในท้องถิ่นถึงประสบการณ์การรักษาอาการปวดท้องประจำเดือน ทำให้ทราบว่าตะไคร้แทรกเกลือสามารถลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ จึงสนใจศึกษาผลของการใช้ชาชงตะไคร้แทรกเกลือ เพื่อลดอาการปวดท้องประจำเดือน โดยให้อาสาสมัครที่มีระดับปวดท้องประจำเดือนอยู่ในระดับ 5 ขึ้นไป จากการวัดด้วยPain scale ที่มี 10 ระดับ จำนวน 33 คน เพื่อเก็บข้อมูลระดับการปวดท้องประจำเดือนก่อนดื่มชาชงตะไคร้แทรกเกลือ เป็นเวลา 2 เดือน
น.ส.แวฮาลีเมาะ กล่าวอีกว่า ให้อาสาสมัครดื่มชาชงตะไคร้แทรกเกลือทุกวันในตอนเช้า ครั้งละ 1 ซองต่อ 1 ถ้วยกาแฟ เป็นเวลา 60 วัน ทำการประเมินระดับการปวดท้องประจำเดือน 2 เดือน และติดตามผลหลังการดื่มเป็นเวลา 2 เดือน พบว่า ชาชงตะไคร้แทรกเกลือมีผลลดระดับการปวดท้องประจำเดือนได้ โดยลดจากระดับการปวดท้องประจำเดือนสูงสุดลงเรื่อยๆจาก ระดับ 7.0 เป็น 6.8, 5.4, 4.1, 2.3 และ 2.4 ตามลำดับ อีกทั้ง ลดจำนวนวันที่ปวดท้องประจำเดือนในระดับ 5 ขึ้นไป จาก 1.9 วัน เป็น 1.8, 1.1, 0.7 และ 0.2 วันตามลำดับ
“การที่ชาชงตะไคร้แทรกเกลือมีผลช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ เนื่องจากตะไคร้มีผลลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งการวิจัยก่อนหน้านี้ พบว่า ตะไคร้มีฤทธิ์คลายหลอดเลือดแดงใหญ่ น้ำมันหอมระเหยของตะไคร้ สามารถลดการบีบตัวของลำไส้ได้ นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยของตะไคร้ยังสามารถลดอาการปวดที่เกิดจาก โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ได้ ส่วนเกลือ ซึ่งมีคุณสมบัติทางแพทย์แผนไทย เป็นตัวล้างเมือกมันในหลอดเลือด ดังนั้น เกลือทำให้เลือดประจำเดือนไหลได้สะดวก จึงอาจมีผลทำให้ลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้”
น.ส.แวฮาลีเมาะ กล่าวงานเดียวกัน คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาการนวดกระเบนเหน็บลดอาการปวดประจำเดือนในอาสาสมัครตามวิธีการนวดของหมอคณิต เขมะพันธุ์มนัส” โดยทำการศึกษาสตรีอายุ 15-25 ปี ไม่มีโรคแทรกซ้อนทางนรีเวช ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ และมีระดับอาการปวดประจำเดือนตั้งแต่ 6 คะแนนขึ้นไป คือ ปวดระดับปานกลาง-รุนแรง อย่างน้อย 1 วันต่อรอบประจำเดือน จำนวน 32 คน ซึ่งอาสาสมัครจะได้รับการนวดกระเบนเหน็บครั้งเดียว ระยะเวลา 15 นาทีก่อนประจำเดือนมา ทั้งนื้ ทำการประเมินระดับอาการปวดประจำเดือนก่อนนวดเป็นเวลา 2 รอบประจำเดือน และติดตามผลหลังการนวดเป็นเวลา 4 รอบประจำเดือน พบว่า อาการปวดประจำเดือนหลังการนวดกระเบนเหน็บในรอบประจำเดือนที่ 1, 2, 3 และ 4 มีระดับการปวดลดลง ควรได้รับการสนับสนุนให้เป็นการรักษาทางเลือกหนึ่ง ทดแทนการใช้ยา