xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เล็งขยายท่อให้รับน้ำฝนได้ 100 มม.เริ่มรามอินทรา-บางเขน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
กทม.หารือกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำพื้นที่ตะวันออก เล็งขยายท่อให้รับน้ำฝนได้ 100 มิลลิเมตร ย่านรามอินทรา บางเขน ก่อน

วันนี้ (21ก.ย.) ที่สำนักการระบายน้ำ กทม. เวลา11.10น. นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมหารือแนวทางการระบายน้ำบริเวณรอยต่อด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานคร และสำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน เพื่อการบริหารจัดการน้ำหลากและระบายน้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มากที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดปริมณฑล เนื่องจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่อง และตกหนักเฉพาะบางพื้นที่ ส่งผลให้ในพื้นที่กทม.หลายจุดเกิดน้ำท่วมขัง โดยมี นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.ประชุมร่วมกับกรมชลประทานทุกสัปดาห์ เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด อีกทั้งประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างกันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีตลอดมา โดยขณะนี้ กทม.และกรมชลประทานได้ประสานความร่วมมือในการรักษาระดับน้ำบริเวณด้านนอกและด้านในของประตูระบายน้ำทุกจุด เพื่อเพิ่มพื้นที่และเป็นแก้มลิงในการรับน้ำฝนได้มากขึ้น อีกทั้งกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันเพิ่มเติมน้ำบริเวณบางนา-ตราด คลองลาดกระบัง คลองบางเสาธง คลองพระองค์เจ้าไชยยานุชิต และจุดตัดทางรถไฟ รวมถึงคลองสายหลักด้านตะวันออก เช่น คลองสุวรรณภูมิ คลองชลหารพิจิตร คลองท่าไข่ คลองบางขนาบ คลองสมบูรณ์ และคลองเสาวภา พร้อมทั้งเดินเครื่องสูบน้ำเต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดระดับน้ำในคลองต่างๆ ตลอดจนดาดท้องคลองด้วยคอนกรีตเพิ่มอัตราการไหลของน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อดึงน้ำจากพื้นที่สู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน กทม.ได้ดำเนินการตามแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อระบายน้ำท่วมขังจากฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เร็วที่สุด อีกทั้งเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำหลากไปพร้อมกัน

ด้าน นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม.กล่าวถึงหลักการระบายน้ำของ กทม.ว่า ขณะนี้อุโมงค์ระบายน้ำของ กทม.ยังคงทำงานเต็มประสิทธิภาพ แต่ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่อุโมงค์นั้น จะต้องลำเลียงน้ำสู่ระบบท่อระบายน้ำ ผ่านคลองย่อยและคลองสายหลัก สู่อุโมงค์ระบายน้ำ เพื่อดึงน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลา แต่เนื่องจากท่อระบายน้ำกทม.สามารถรับน้ำฝนในปริมาณไม่เกิน 60 มิลลิเมตร อีกทั้งยังมีขยะอุดทางเดินของน้ำทำให้การระบายน้ำไม่สะดวกและใช้เวลาในการระบายน้ำนานขึ้น รวมถึงปัญหาดินทรุด ทำให้ท่อระบายน้ำที่เคยวางแนวไว้มีลักษณะตกท้องช้าง นอกจากนี้ กทม.ยังมีปัญหาเฉพาะด้านกายภาพ คือ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังได้ง่าย ทำให้ใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำแตกต่างกัน เช่น บริเวณถ.เพชรเกษม ถ.ศรีอยุธยา ถ.เพชรบุรี ถ.มหาราช ถ.รามคำแหง ซึ่งกทม.ได้แก้ไขโดยทำระบบปิดล้อมแล้วสูบน้ำออกจากพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต กทม.มีแผนจะปรับปรุงขนาดท่อระบายน้ำให้สามารถรับน้ำฝนได้เพิ่มขึ้นจาก 60 มิลลิเมตร เป็น 80-100 มิลลิเมตร แต่การจะขยายท่อระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลำเลียงน้ำนั้น จะต้องรื้อผิวถนนและวางท่อระบายน้ำใหม่ทั้งหมด ซึ่งใจกลางเมืองทำได้ยาก แต่คาดว่าจะนำร่องการปรับปรุงท่อระบายน้ำในพื้นที่ที่การขยายตัวของเมืองยังไม่มาก เช่น ย่านรามอินทรา และบางเขน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น