xs
xsm
sm
md
lg

“สุขุมพันธุ์” ยันสถานการณ์น้ำใน กทม.ปกติ รับห่วงน้ำหนุนสูง 21 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุขุมพันธุ์” ยัน สถานการณ์น้ำใน กทม.ยังปกติ แต่ห่วงน้ำหนุนสูง 21 ก.ย.นี้ ด้าน “พิจิตต” ห่วงปัญหาดินทรุดตัวทำระบบท่อระบายน้ำลอยตัวไม่สามารถระบายน้ำได้ เสนอ กทม.ควรเปลี่ยนแปลงระบบท่อระบายน้ำ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารพัฒนาเมือง (มหานคร รุ่นที่ 2) ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ว่า ในขณะนี้ กทม.ยังไม่พบปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำแต่อย่างใด ถึงแม้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงกว่า 1 เมตร แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่มีปัญหา สำหรับปริมาณน้ำฝนที่ผ่านมา มีปริมาณ 130-150 มล.กทม.ยังสามารถระบายน้ำได้ โดยในเส้นทางหลักอาจต้องใช้เวลา 2-3 ชม.และในพื้นที่เส้นทางรอง ชุมชน และหมู่บ้าน อาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น แต่ก็ยังสามารถระบายได้ดี ทั้งนี้ ต้องติดตามสถานการณ์ในวันที่ 21 ก.ย.ซึ่งมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำหนุนสูง อย่างใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กทม.ได้ทำการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้กับประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 27 ชุมชน ให้เฝ้าระวังติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ด้านดร.พิจิตต รัตตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวถึงมาตรการการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำของ กทม.ว่า กทม.และสำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้มีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี แต่ปัญหาน้ำปีที่แล้วเกิดจาก กทม.ไม่มีประสบการณ์เรื่องน้ำหลาก และน้ำทุ่ง เพราะที่ผ่านมา กทม.บริหารจัดการเฉพาะน้ำฝนและน้ำจากแม่น้ำ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง มากกว่า น้ำหลากและน้ำทุ่งที่เกิดขึ้น ทำให้รู้ว่าจุดอ่อนของ กทม.อยู่ตรงไหน สำหรับวันนี้เป็นห่วงปริมาณน้ำฝน เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือ และน้ำทุ่งปีนี้ ไม่หนักเท่าปีที่แล้ว โดยพบปริมาณน้ำไหลผ่านภาคกลาง 3,000 ล้าน ลบ.ม.ในขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณน้ำมากถึง 12,000 ล้าน ลบ.ม.ต้องติดตามปริมาณน้ำฝนที่ตกใต้เขื่อนกับที่ตกในพื้นที่กรุงเทพฯอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการเพื่อเตรียมการรองรับเป็นอย่างดีแล้ว รวมทั้งในปีนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่ทุ่งตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำด้วย คาดว่า จะไม่เกิดปัญหาเช่นปีที่แล้ว

ดร.พิจิตต กล่าวด้วยว่า การทรุดตัวของดินก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจแล้ว พบว่า พื้นที่ กทม.มีการทรุดตัวไปเรื่อยๆ จริง บางพื้นที่ระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เช่น ถนนรามคำแหง จำเป็นต้องคำนึงถึงระบบท่อระบายน้ำ ความสูงของปากท่อ และความสามารถในการรองรับการทรุดตัวของดินได้มากขนาดไหน ปัญหาดินทรุด ทำให้ปากท่อระบายน้ำลอยตัวขึ้น น้ำไม่สามารถระบายได้ ดังนั้น กทม.ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบท่อ โดยคำนึงว่าพื้นที่มีการทรุดตัวมากกว่ากัน ตนเองในฐานะของประชาชนคนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะอดีตผู้ว่าฯ กทม.เห็นว่า กทม.มีการดำเนินนโยบายที่ดี และคนกรุงเทพฯรู้จักคลองต่างๆ และระบบการระบายน้ำดีมากขึ้น ซึ่งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและ ภาคต่างๆ จะมีส่วนสำคัญให้การแก้ไขปัญหาน้ำประสบผลสำเร็จดียิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น