xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ยันระบบระบายน้ำมีประสิทธิภาพ แต่ฝนตกมากเกินกว่าระบบจะรองรับได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.ยันระบบระบายน้ำของ กทม.มีประสิทธิภาพแต่สุดวิสัยที่จะรับน้ำฝนมากเกินกว่า 60 มิลลิเมตร ที่ระบบจะรองรับได้ แต่สั่งเจ้าหน้าที่ดูแล ไม่ให้มีขยะหน้าตะแกรงท่อระบายน้ำ ด้าน “จุมพล” แจงดินทรุดตัวเสริมให้กรุงเทพฯ น้ำท่วมขังสูง เล็งเลือกปรับปรุงท่อบางจุดแก้ปัญหาการไหลของน้ำ

วันนี้ (19 ก.ย.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เวลา 10.30 น. : นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ กรณีฝนตกหนัก และมีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ในระยะนี้ ว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด โดยวานนี้ (18 ก.ย.) มีน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ 29 จุด แต่สามารถระบายน้ำให้แห้งปกติได้ในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง เช่น บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า บริเวณถนนศรีอยุธยา และบริเวณใต้ทางด่วนถนนพระรามที่ 6 แต่ทั้งนี้ อาจมีบางจุดที่ต้องใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำมากกว่า 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และลักษณะของพื้นที่ ส่วนการจราจรติดขัดในช่วงที่ฝนตกนั้น เกิดจากฝนตกหนักในช่วงเวลาเร่งด่วน ทำให้ยานพาหนะเคลื่อนตัวช้าเพราะต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่มากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ระบบระบายน้ำของกทม.ทั้งประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำ ทำงานเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้ง กทม.ได้ลอกท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ ภายหลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 คืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 97 และพร่องน้ำในคลองทุกสาย เพื่อให้พร้อมรับน้ำฝนอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากระบบระบายน้ำของ กทม.สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาไม่เกิน 60 มิลลิเมตร หากปริมาณฝนมากกว่า 60 มิลลิเมตร จะต้องใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีใบไม้ ขยะ และเศษพลาสติกอุดตันตะแกรงช่องรับน้ำฝนและปิดทางระบายน้ำ โดย กทม.ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะบริเวณหน้าตะแกรง เพื่อให้น้ำไหลลงท่อสะดวกขึ้น ในส่วนของน้ำเหนือขณะนี้ยังไม่มีปัญหา แต่หากมีระบายน้ำจากทางเหนือ กทม.ได้ประสานงานกับรัฐบาลและกรมชลประทาน ให้มีการระบายน้ำออกทางด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ผ่านคลองระพีพัฒน์ และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ออกสู่บางปะกง และด้านตะวันตกผ่านแม่น้ำท่าจีน

วันเดียวกันนายจุมพล สำเภาพล รองปลัด กทม.กล่าวชี้แจงภายหลังการเสวนาอาคาร ณ เมืองทองธานี กรณี ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม.แสดงความห่วงใยต่อปัญหาการระบายน้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจัยสำคัญเกิดจากการทรุดตัวของดิน ทำให้ปากท่อระบายน้ำไม่อยู่ในแนวการไหลของน้ำและเกิดภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการระบายน้ำในกรุงเทพฯ ทำได้ช้าทั้งที่มีการขุดลอกท่อระบายน้ำและคูคลองไปแล้ว ว่า กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนดินที่อ่อน และเป็นที่ราบลุ่ม จึงมีการทรุดตัวของพื้นที่เฉลี่ย 1-10 ซม.ต่อปีขึ้นอยู่กับพื้นที่ อีกทั้งการระบายน้ำของกทม.ใช้หลักธรรมชาติของน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ซึ่งจากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาในช่วงนี้มีแต่ละครั้งมีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 100-130 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 15-20 ซม.ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้น และน้ำบนผิวถนนไหลสู่ท่อระบายน้ำได้ช้า แม้จะมีการพร่องน้ำในคลองแล้วก็ตาม ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าว กทม.จะทำการฟื้นฟูคลองให้มีประสิทธิภาพในการรับน้ำเพิ่มขึ้นและทำน้ำไหลได้เร็วขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคลองมีความลาดเอียงน้อยทำให้การไหลของน้ำเป็นไปอย่างช้าๆ

สำหรับข้อแนะนำที่ ดร.พิจิตต เสนอให้ทำการปรับปรุง หรือเปลี่ยนท่อระบายน้ำนั้น รองปลัดกทม.กล่าวว่า จะต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาลหากจะเปลี่ยนท่อระบายน้ำทั้งหมด ดังนั้น อาจจะเลือกเฉพาะบางจุดที่ส่งผลกระทบมากเท่านั้น เนื่องจากในอดีต การวางท่อระบายน้ำใน กทม.จะมีรอยต่อเยอะ เมื่อเกิดการทรุดตัวของชั้นดินก็ทำให้ท่อทรุดตามไปด้วยและมีลักษณะเป็นลูกคลื่นทำให้น้ำไหลได้ไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำฝนมีหลายปัจจัยที่ต้องช่วยกัน และต้องไม่ลืมว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต่ำ โอกาสที่น้ำท่วมขังจึงมีได้ แต่ กทม.จะหาวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น