xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เร่งพร่องน้ำคลองสายหลักและแก้มลิงรับน้ำฝนช่วง 14-17 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.เร่งพร่องน้ำคลองสายหลักและแก้มลิงรับน้ำฝนช่วง 14-17 ก.ย.นี้ พร้อมสั่งทุกเขตเฝ้าระวังจุดอ่อนน้ำท่วม และเตือนประชาชน 27 ชุมชนนอกคันกั้นน้ำ

วันนี้ (12 ก.ย.) ที่ศาลาว่าการ กทม. พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานคร เพื่อรับมือกับร่องมรสุมที่จะพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 14-17 ก.ย.2555 ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ประกอบสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือ ซึ่ง กทม.ได้กำชับทุกหน่วยงานเพิ่มการเฝ้าระวังสภาพอากาศและการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยขณะนี้ กทม.ได้พร่องน้ำในคลองสายหลักและแก้มลิง เช่น คลองแสนแสบ ช่วง ถ.สุขุมวิท ถ.เพชรบุรี และ ถ.คลองตัน ที่ระดับ -60 ซม.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และพร่องน้ำช่วงบริเวณสะพานผ่านฟ้า ที่ระดับ -1 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อีกทั้งตรวจสอบบริเวณจุดฟันหลอรวมถึงเร่งดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ และเสริมแนวกระสอบทรายในจุดเสี่ยงต่างๆ ด้วย พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตตื่นตัวในการเฝ้าระวังพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วม และเก็บขยะบริเวณหน้าตะแกรงต่างๆ ในช่วงฝนตกเพื่อให้การระบายน้ำสะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนรวมถึงให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วม 27 ชุมชน เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงขึ้น 1.50-1.60 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางในช่วงเดียวกันนี้ พร้อมกันนี้ กทม.ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานทุกพื้นที่เขตอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้รายงานสภาพอากาศและปริมาณฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปัจจุบันยังไม่น่าห่วง แต่ต้องเฝ้าระวังหากเกิดพายุฝน โดยปริมาณฝนตั้งแต่ ม.ค.-12 ก.ย.55 วัดได้ 942.5 มิลลิเมตร ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 21 ปี ร้อยละ 20 ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ยังมีศักยภาพในรองรับน้ำได้อีกเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2554 และปัจจุบัน เช่น เขื่อนภูมิพล เมื่อปี 2554 มีปริมาณน้ำในเขื่อนร้อยละ 84 ส่วนปี 2555 มีปริมาณน้ำร้อยละ 52 เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อปี 2554 มีปริมาณน้ำในเขื่อนร้อยละ 95.25 ส่วนปี 2555 มีปริมาณน้ำร้อยละ 61.17 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อปี 2554 มีปริมาณน้ำในเขื่อนร้อยละ 78.38 ส่วนปี 2555 มีปริมาณน้ำร้อยละ 40.66

ในส่วนของปริมาณน้ำเหนือที่ปล่อยลงมาท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังไม่น่าห่วง เนื่องจากในปัจจุบันปล่อยน้ำลงมาในปริมาณ 1,798 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2554 ปล่อยน้ำท้ายเขื่อนที่ปริมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ปี 2554 ไหลผ่านปริมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที สำหรับระดับน้ำที่ อ.บางไทร ปัจจุบันสูง 1.71 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนปี 2554 อยู่ที่ระดับ 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อย่างไรก็ตาม จะต้องเฝ้าระวังหากมีฝนตกใต้เขื่อนเจ้าพระยา ส่วนสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงสุดจะเกิดในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย.และ 15 ธ.ค.55

รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.ได้เตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกจุด พร้อมทั้งแผนการระบายน้ำเหนือออกจากพื้นที่ ซึ่ง กทม.อยากให้มีการระบายน้ำออกทางด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจและมีชุมชนหนาแน่นน้อย แต่หากรัฐบาลต้องการระบายน้ำจากทางเหนือสู่แม่น้ำเจ้าพระยา กทม.ก็เตรียมพร้อมแผนการป้องกันและการระบายน้ำในพื้นที่อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น