xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.อุษา กลิ่นหอม” ผู้ไขภูมิปัญญาอีสานด้วยวิทยาศาสตร์/ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย..สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

คติความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ดูห่างไกลจากคำว่าวิทยาศาสตร์มากนักในสายตาของดอกเตอร์จบใหม่ไฟแรงอย่าง ดร.อุษา กลิ่นหอม ซึ่งถูกส่งมาบรรจุเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี 2518 โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีแรกของการเป็นอาจารย์ ดร.อุษา เปิดเผยว่า ได้นำแนวทางและความรู้ของต่างชาติที่มองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วมาใช้ในการสอนนักศึกษาอย่างตั้งใจ

แต่ความตั้งใจนั้นกลับถูกสั่นคลอนลงอย่างง่ายดาย เพียงเพราะ “ต้นไม้” ที่อยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย

ดร.อุษา เล่าให้ฟังว่า ครั้งนั้นรู้สึกอับอายมาก ทั้งที่เป็นอาจารย์สอนด้านชีววิทยา แต่ต้นไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นอยู่ภายในมหาวิทยาลัยมีต้นอะไรบ้างนั้น ตนยังไม่ทราบเลย สุดท้ายต้องขอให้ภารโรงมาช่วยเป็นครูจำเป็น พาเดินดู และศึกษาต้นไม้ต่างๆรอบมหาวิทยาลัย ขยายออกไปยังป่าชุมชน ทำให้ค้นพบว่าดินแดนอีสานที่เขาว่ากันว่าแห้งแล้งนั้น ที่จริงแล้วกลับมีความอุดมสมบูรณ์ มีภูมิปัญญาที่หลากหลาย และมีความเกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตของคนท้องถิ่นอย่างมหาศาล

“เมื่อศึกษานานๆ เข้า ก็เกิดเป็นความหลงใหลในภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนอีสาน เรารู้สึกทึ่งมากที่ภูมิปัญญาบางอย่างเขาคิดได้อย่างไร เรียกได้ว่าความเชื่อจากการที่ร่ำเรียนมานั้นพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เพราะเมื่อก่อนจะถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าชาวบ้านเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความรู้ แต่เดี๋ยวนี้เราต้องไปขอเรียนรู้จากชาวบ้าน”

ดร.อุษา ยกตัวอย่างภูมิปัญญาของชาวอีสานให้ฟังว่า ในการปลูกข้าว ศัตรูของข้าวคือแมลงกับปูนา คนอีสานก็มีวิธีที่ชาญฉลาดในการจัดการปัญหาดังกล่าว โดยไม่ต้องใช้สารพิษเหมือนในปัจจุบัน คือ “การทำนาผีตาแห้ง” ซึ่งเป็นการปลูกข้าว 7 ต้น ไว้อยู่ตามมุมต่างๆของพื้นที่ทำนา จนมีระยะเวลา 1 เดือน กลิ่นของข้าวก็จะล่อให้แมลงเข้ามากัดกินและวางไข่จนหมดช่วงของวงจรชีวิต จากนั้นจึงเริ่มปลูกข้าวในพื้นที่นาผืนใหญ่ต่อไป ส่วนปูนานั้น ชาวบ้านจะนำไหเล็กๆ ใส่ข้าวเหนียวนึ่งมาล่อจับไปเป็นอาหารอีกทางหนึ่ง

ดร.อุษา กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า ชาวบ้านมีพิธีกรรมต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาและสามารถอธิบายที่มาที่ไปได้ อย่างการทำนาผีตาแห้ง คนส่วนใหญ่ก็มักเข้าใจว่าเป็นเรื่องของผีสางเทวดาไป ตนจึงพยายามนำเอาภูมิปัญญาเหล่านั้นมาทดลองทางวิทยาศาสตร์และถ่ายทอดเป็นความรู้ให้แก่นักศึกษา เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านกลายเป็นความเชื่อในทางมนุษยศาสตร์ อันเกิดจากการถ่ายทอดแบบปากต่อปาก แต่ไม่รู้ว่าที่จริงแล้วพิธีกรรมเหล่านั้นสามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้

“อย่างพิธีเลี้ยงผีปู่ตา ซึ่งเป็นพิธีเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในชุมชน ก็จะมีการนำไก่มาถวาย โดยนำไก่บ้านประมาณ 3-5 ตัวมาเชือด มาต้ม จากนั้นก็จะถอดคางไก่ออกมาดู หากคางไก่เรียบ สวยงาม แสดงว่า ในพื้นที่จะมีความอุดมสมบูรณ์ เราก็พยายามเอาวิทยาศาสตร์เข้าไปรองรับความเชื่อตรงนั้น โดยศึกษาการเลี้ยงไก่ในสถานการณ์ต่างๆ พบว่า ส่วนที่ไวที่สุดของไก่คือคาง โดยไก่ที่กินดีอยู่ดีคางไก่ก็จะเรียบสวยงาม ซึ่งตรงกับความเชื่อของชาวบ้าน”

ดร.อุษา เล่าอีกว่า เมื่อนำภูมิปัญญาที่ผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้วมาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาต่อ เขาก็จะชอบ เพราะไม่คิดว่าภูมิปัญญาพื้นบ้านจะมีความลึกซึ้งและสามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้ อย่างเรื่องของผีเป้า หรือกระสือ ก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องผีสางไป แต่ที่จริงแล้ว ก็คือ หิ่งห้อยที่มีขนาด 18 ซม.ทำให้ไฟเรืองแสงมีขนาดใหญ่มาก นั่นเพราะเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้หิ่งห้อยมีขนาดใหญ่กว่าปกติ นอกจากนี้ ยังมีเห็ดเรืองแสง และเชื้อราเรืองแสงด้วย เนื่องจากป่าของอีสานมีลักษณะแบบป่าเต็งรัง ใบไม้แห้งตามพื้นจะเยอะ เชื้อราก็จะมาขึ้นตามใบไม้แห้งเหล่านั้น จนทำให้ดูเหมือนมีดวงไฟส่องแสงอยู่ตามพื้นนั่นเอง

“เชื้อราเรืองแสงบ้านเราก็ถูกญี่ปุ่นนำไปคิด ไปพัฒนาต่อยอด ทำเป็นกิโมโนเรืองแสง และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นที่น่าเสียดายว่าบ้านเราซึ่งมีภูมิปัญญาจำนวนมากและหลากหลาย แต่ไม่ได้ถูกนำไปพัฒนา หากประเทศไทยสามารถนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาต่อยอดได้ เชื่อว่า ประเทศไทยจะพัฒนาไปได้อีกไกลอีกมาก” ดร.อุษา กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น