xs
xsm
sm
md
lg

จวกกลุ่มเสียผลประโยชน์เป่าหูเกษตรกร ลุกฮือต้าน กม.คุมบุหรี่ฉบับใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไร่ยาสูบ
“หมอพรเทพ” จวกกลุ่มเสียผลประโยชน์เป่าหูเกษตรกรลุกฮือต้าน ร่าง กม.บุหรี่ฉบับใหม่ ยันกฎหมายไม่เกี่ยวข้องการปลูกยาสูบของเกษตรกร แต่เป็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเข้าถึงบุหรี่ และเพิ่มมาตรการสำหรับการตลาดรูปแบบใหม่ๆ เหตุกฎหมายเก่าบังคับใช้นาน 20 ปีแล้ว แต่ไร้การปรับปรุง “หมอประกิต” เตือนผู้มีอำนาจและชาวไร่ยาสูบศึกษาข้อเท็จจริง อย่าหูเบาหลงกลบริษัทบุหรีข้ามชาติที่บิดเบือนข้อมูล ร่าง กม.บุหรี่ฉบับใหม่ ยันไม่มีมาตราใดห้ามปลูกยาสูบตามที่เข้าใจกัน ย้ำหาก กม.บุหรี่ใหม่ล้ม บริษัทบุหรี่ต่างชาติรับประโยชน์เต็มๆ แถมเข้าแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากบุหรี่ไทย

วันนี้ (14 ก.ย.) ที่โรงแรมริชมอนด์ ในการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น “ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ....” พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายก่อนรวบรวมความคิดเห็นเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสภานิติบัญญัติต่อไป

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการรับหนังสือและแถลงการณ์จากเครือข่ายเยาวชนและสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย ว่า กฎหมายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบของไทยในปัจจุบันมีการบังคับใช้มาเป็นเวลา 20 ปี ทำให้ยังไม่มีมาตรการสำหรับการตลาดรูปแบบใหม่ๆ เช่น การขายทางอินเทอร์เน็ต การขายบุหรี่มวนเอง ซึ่งพบว่าปัจจุบันบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ เข้ามาทำการตลาดส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย ทำให้เด็กและเยาวชนถูกครอบงำ โดยการปรับปรุง พ.ร.บ.ไม่เกี่ยวข้องกับการปลูกใบยาสูบของเกษตรกรแต่อย่างใด และถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่รัฐบาลต้องดำเนินการต่อไปในการปลูกพืชทดแทน แต่กฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ เป็นการทำเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน และทำให้คนไทยลดการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักก่อให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งนี้ การเปิดเวทีให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วม ถือเป็นมาตรการหนึ่งตามกฎหมาย ส่วนเรื่องการต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าวก็เป็นขบวนการต่อสู้ของกลุ่มธุรกิจที่เสียผลประโยชน์และมีการให้ข้อมูลผิดกับกลุ่มเกษตรกร
กลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ และผู้ประกอบการยาสูบรวมพลังคัดค้านการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ระหว่างการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่ง หลังชาวไร่ยาสูบและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. ... เนื่องจากเชื่อว่าผู้ที่จะได้ผลประโยชน์มากที่สุด หาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวล้ม คือ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ

ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า จากการติดตามข่าวในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีความพยายามให้ข้อมูลบิดเบือนว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้ชาวไร่ยาสูบตกงาน และจะมีการห้ามปลูกยาสูบภายใน 5 ปี ซึ่งไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย เพราะไม่มีมาตราใดที่กล่าวถึงการปลูกยาสูบเลย และจุดมุ่งหมายของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การควบคุมการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อป้องกันเด็กไทยไม่ให้ติดบุหรี่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงจากกฎหมายที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันให้เข้มขึ้น เช่น ห้ามขายบุหรี่แก่เด็กต่ำกว่าอายุ 20 ปี ซึ่งเพิ่มจากกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดไว้ที่อายุ 18 ปี รวมถึงการเพิ่มมาตราต่างๆ ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบโลก ที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีกับอีก 175 ประเทศและต้องทำตามพันธกรณี

“เข้าใจดีว่า ชาวไร่ยาสูบเกรงว่า คนไทยจะเลิกสูบบุหรี่กันหมดหลังจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาตามคำยุยงของบริษัทบุหรี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางเป็นจริง เพราะบุหรี่เป็นสินค้าที่มีอำนาจเสพติดสูงมาก แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมาย และมาตรการควบคุมยาสูบมากกว่า 25 ปี แต่จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2554 ยังคงอยู่ที่ 13 ล้านคน เกือบไม่ได้ลดลงจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วคือในปี พ.ศ.2534 ที่มีคนสูบบุหรี่ 12 ล้านคนเศษ ที่สำคัญ ปริมาณบุหรี่ที่ผลิตออกมาขายก็ไม่ได้ลดลง ยังคงอยู่ที่ 2,000 ล้านซองต่อปี ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นเช่นนี้เพราะแม้อัตราการสูบบุหรี่จะลดลงแต่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเราไม่มีการรณรงค์ ไม่มีกฎหมายและมาตรการต่างๆ จำนวนผู้สูบบุหรี่ในขณะนี้จะมีมากถึง 17 ล้านคน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวด้วยว่า สิ่งที่บางฝ่ายกังวล คือ ส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบที่ลดลง แต่บริษัทบุหรี่นอกมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น เพราะสามารถขายในราคาที่ใกล้เคียงกับบุหรี่ไทย เพราะไม่ต้องเสียภาษีบุหรี่นำเข้าตามข้อตกลงอาฟตา ถ้ากฎหมายนี้ถูกล้มหรือถูกตัดบางมาตราออก เชื่อว่า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ บริษัทบุหรี่นอก โรงงานยาสูบไทยจะต้องเข้าใจว่า กฎหมายใหม่กำหนดมาตรการควบคุมการตลาดที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งจะทำให้โรงงานยาสูบสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่บุหรี่นอกช้าลง เพราะหากกฎหมายมีจุดอ่อนอย่างที่เป็นอยู่ บริษัทบุหรี่นอกมีกลยุทธ์ และทุนมหาศาลในการทำการส่งเสริมการขาย และจะแย่งส่วนแบ่งตลาดจากโรงงานยาสูบในที่สุด ล่าสุด บริษัท ฟิลลิป มอริส ไทยแลนด์ ได้สนับสนุนการดำเนินงานของสมาคมการค้ายาสูบไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นร้านค้าปลีก ให้ออกมาคัดค้านบางมาตราของกฎหมายนี้

“ขอวิงวอนผู้มีอำนาจทั้งหลายให้ศึกษาข้อมูลให้ดีๆ และอย่าไปตกหลุมบริษัทบุหรี่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ผลเสียไม่เฉพาะจะเกิดกับเด็กและเยาวชนไทยเท่านั้น แต่ประเทศไทยจะเสียหน้าไปทั่วโลก ว่าไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาการควบคุมการบริโภคยาสูบ ที่รัฐบาลไปลงนามไว้เมื่อปี 2547” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

อนึ่ง ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต ระบุว่า ในฤดูผลิตปี 2552-2553 ประเทศไทยมีชาวไร่ยาสูบ 61,056 ราย ผลิตใบยาได้ 62,448,781 กิโลกรัม โดยร้อยละ 64.8 เป็นใบยาสำหรับส่งออก และร้อยละ 35.2 รับซื้อโดยโรงงานยาสูบไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น