xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแฉ บ.บุหรี่ใช้มุกให้หนุนชาวไร่ต้าน พ.ร.บ.ยาสูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ ชี้ ปรับปรุง กม.บุหรี่ฉบับใหม่ให้ทันสถานการณ์ ช่วยให้บังคับง่ายขึ้น เป็นไปตามอนุสัญญา WHO เผยกำลังอยู่ในช่วงทำประชาพิจารณ์ แฉ บริษัทบุหรี่แอบหนุนชาวไร่ต้าน พ.ร.บ.ควบคุมบริโภคยาสูบ

วันนี้ (11 ก.ย.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึง “ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ...” ว่า ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มาตั้งแต่ปี 2535 และใช้มาเป็นเวลา 20 ปี จึงมีการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ... เพื่อปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับให้เป็นฉบับเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ พบว่า ประเทศไทยมีการใช้มาตรการทางภาษียาสูบเพื่อควบคุมการบริโภคทั้งสิ้น 10 ครั้ง โดยพบว่า ปี 2536-2550 อัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี 2550-2552 อัตราการสูบลดลงอย่างช้าๆ และปี 2552-2554 เริ่มมีแนวโน้มการสูบเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากประชากรเพิ่มมากขึ้น และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้มีช่องทางการขายที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องเร่งควบคุม
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า จากการร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งใช้เวลากว่า 1 ปี และกำลังมีการทำประชาพิจารณ์ โดยเริ่มที่ภาคใต้ อีสาน และภาคเหนือ โดยวันที่ 14 ก.ย.นี้ จะทำประชาพิจารณ์ภาคกลาง ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี โดยประเด็นหลักที่มีการแก้ไขกฎหมาย คือ มีการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับประเทศ และระดับจังหวัด โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการตามกฎหมาย คล้ายกับ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับประเด็นที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม คือ เรื่องคำนิยาม เช่น ให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น ปรับปรุงนิยามการโฆษณา ให้รวมถึงแนวทางใหม่ๆ เช่น พริตตี้ แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องอายุผู้ซื้อจาก 18 ปี เป็น 20 ปี ช่องทางการขายทางอินเทอร์เน็ต การแบ่งมวนขาย การห้ามเผยแพร่ข่าวสารเพื่อสังคมในทุกสื่อ และเพิ่มมาตรการตามอนุสัญญาฯ

ประเด็นมาตราต่างๆ ของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ เป็นการปรับปรุงเพื่อควบคุมการทำการตลาดในรูปแบบต่างๆ ที่รุกกลุ่มเยาวชนมากขึ้น และไม่เกี่ยวข้องกับผู้ปลูกใบยาสูบแต่อย่างใด แต่กลับพบว่า มีกลุ่มบริษัทข้ามชาติ และบริษัทอุตสาหกรรมยาสูบ หนุนให้กลุ่มชาวไร่ยาสูบ ให้ออกมาคัดค้านการปรับปรุงกฎหมาย โดยพบว่า มีการค้านประเด็นการห้ามขายในเด็กหลายกรณี ซึ่งถือเป็นความตะกละของบริษัทบุหรี่อย่างยิ่ง ส่วนนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เห็นความสำคัญของโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ การควบคุมโดยลดการบริโภคยาสูบ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงลำดับแรกของโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาของประเทศ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

น.ส.บังอร ฤทธิภักดี กรรมการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการประชาพิจารณ์ทั้ง 3 ครั้ง พบว่า มีกลุ่มองค์กรที่ออกมาคัดค้านกฎหมายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.สมาคมการค้ายาสูบไทย (TTTA) เป็นกลุ่มผู้ค้าปลีก ซึ่งพบข้อมูลในเว็บไซต์ชัดเจนว่า สนับสนุนเงินโดย บริษัทฟิลิป มอริส ไทยแลนด์ จำกัด 2.สมาคมผู้บ่มและผู้ค้ายาสูบไทย (สยท.) เป็นกลุ่มชาวไร่ยาสูบ พบว่า สนับสนุนโดยสมาชิกขององค์กรที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติลงขันสนับสนุน และ 3.กลุ่มโรงงานยาสูบ ที่มีนักกฎหมาย ร้านค้าส่ง ค้าปลีก และ ชาวไร่ยาสูบ

น.ส.บังอร กล่าวอีกว่า ประเด็นที่มีการคัดค้าน พ.ร.บ.คือ สมาคมผู้เพาะ บ่มใบยาสูบ เรียกร้องให้มีตัวแทนไร่ยาสูบ ในคณะกรรมการ ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ และเรียกร้อง มาตรา 39 เรื่องการแสดงส่วนประกอบ มาตรา 40 เรื่อง ฉลากและหีบห่อต้องเป็นไปตามเกณฑ์ สำหรับสมาคมการค้ายาสูบไทย ค้านในมาตรา 27 เรื่อง ห้ามขายแก่เด็ก มาตรา 29 ห้ามขายแบบแบ่งซอง มาตรา 38 ห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ ณ จุดขาย มาตรา 40 หีบห่อและฉลากต้องเป็นไปตามเกณฑ์ และมาตรา 41 ผู้ผลิต นำเข้า ต้องแสดงรายงานประจำปี ทั้งนี้ ข้อค้านทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับการปลูกใบยาสูบหรือจำกัดการปลูกแต่อย่างใด แต่เป็นกฎหมายเพื่อป้องกันเยาวชน และผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางเดียวกับองค์การอนามัยโลก ที่มีการวิจัยอย่างชัดเจนไว้แล้ว

นายศิริชัย พรรณธนะ นักวิชาการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระบวนการทำประชาพิจารณ์ จะรวบรวมประเด็นทั้งหมดทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ให้แก่คณะกรรมการพิจารณา เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย จากนั้นเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ เพื่อส่งต่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเห็นชอบ ก่อนนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติต่อไป โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น