xs
xsm
sm
md
lg

ดร.อาจอง เตือนภัย “สึนามิ” อ่าวไทย ครั้งแรกปลายปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ดร.อาจอง” ยันน้ำไม่ทะลักเข้าท่วม กทม.เหมือนปีที่แล้ว เหตุปริมาณน้ำน้อยกว่า ชี้ ที่น่ากังวล คือ ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการเกิดพายุสุริยะครั้งใหญ่ที่จะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ แนะประชาชนต้องปรับตัวอยู่กับน้ำ และมีความสามัคคี “วิทยา” สั่ง สสจ.12 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมให้เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำ เผยส่งยาสามัญประจำบ้านให้ผู้ประสบภัยแล้วกว่า 6,800 ชุด

วันนี้ (13 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นระบบควบคุมการลงจอดบนดาวอังคารของยานไวกิ้ง ร่วมกับองค์การนาซา สหรัฐฯ และผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไสย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2555 ภายในงานการประชุมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2555 ว่า สำหรับปีนี้หลายคนอาจกังวลว่า น้ำจะท่วมเหมือนปี 2554 หรือไม่นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ พบว่า แม้ช่วงที่ผ่านมาฝนจะตกในปริมาณมาก เพราะเกิดจากภาวะโลกร้อน ทำให้ฝนตกหนัก ประกอบกับกระแสน้ำของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงจากลานินญา เป็นเอลนีโญ คาดว่า ปีนี้น้ำจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 20 โดยในภาคกลางจะไม่มีน้ำที่เกิดจากฝนที่ตกอย่างหนักมาสมทบรวมกันเหมือนปี 2554 ทั้งนี้ สิ่งที่ควรกังวล คือ ในปี 2556 จะเกิดเอลนีโญซึ่งทำให้ปริมาณฝนน้อยลง และก่อให้เกิดความแห้งแล้ง

“ในการบริหารน้ำ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการกักเก็บน้ำในเขื่อน อย่ารีบระบายน้ำออกมาจนหมด เพราะคิดว่าน้ำจะท่วมเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อดูปริมาณน้ำฝนที่ตกที่สุโขทัย เพชรบูรณ์ และในแม่น้ำป่าสัก พบว่า น้อยมาก เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่สำคัญ น้ำในเขื่อนหลายแห่งก็ไม่มาก เชื่อว่า น้ำจะไม่เข้าสู่กรุงเทพมหานครเท่าปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ต้องกังวลมากกว่า คือ ในช่วงเดือนธันวาคม ถึงมกราคม จะครบรอบ 11 ปีของการเกิดพายุสุริยะ ซึ่งพบสัญญาณเมื่อเดือนมีนาคม และมิถุนายนไปแล้ว หากเกิดพายุสุริยะจริง จะส่งผลการเกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก และอาจเกิดสึนามิในบริเวณอ่าวไทยเป็นครั้งแรก เนื่องจากมีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวในแถบประเทศฟิลิปปินส์ โดยไทยจะมีเวลาในการเตรียมตัวและเตือนภัย 15 ชั่วโมง แต่โอกาสเกิดพายุสุริยะครั้งใหญ่ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์” ดร.อาจอง กล่าว

ดร.อาจอง กล่าวอีกว่า สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมในปีนี้ ขอให้ประชาชนอย่าตระหนก และขอให้รักน้ำ เพราะน้ำคือ ชีวิต ไม่มีน้ำก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องสามัคคี ช่วยเหลือกัน ไม่ตั้งตนเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน จะทำให้ปัญหาลดลง ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะคนทะเลาะกัน จึงเกิดเหตุการณ์อย่างที่ทุกคนเห็น ดังนั้น ประชาชนต้องรู้จักปรับตัวอยู่กับน้ำให้ได้ เช่น ที่โรงเรียนสัตยาไสย ก็มีการปลูกบ้านลอยน้ำ ทำสวนผักลอยน้ำ เมื่อน้ำมาก็อยู่ได้อย่างมีความสุข ประเทศไทยถือว่าโชคดีที่มีน้ำใช้ ดังนั้น อย่ารังเกียจน้ำ

วันเดียวกัน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมที่โรงเรียนประชากรรังสฤษดิ์ อำเภอบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ขณะนี้ยังมีที่พื้นที่ประสบภัย 12 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระแก้ว และ ชัยภูมิ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง ให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม พร้อมทั้งให้คำแนะนำประชาชน เรื่องการป้องกันอุบัติเหตุจากการพลัดตกน้ำ ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต สัตว์มีพิษกัดต่อย และโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น อุจจาระร่วง ตาแดง เป็นต้น

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานบริการสาธารณสุขในจังหวัดที่มีน้ำท่วมทุกแห่ง ยังเปิดให้บริการประชาชนได้ตามปกติ ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มีผู้รับบริการ 1,600 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย ไข้หวัด และผื่นคัน มีความเครียดสูง 20 ราย ได้แจกยาสามัญประจำบ้านให้ผู้ประสบภัยแล้วกว่า 6,800 ชุด ในวันนี้ ได้รับรายงานมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ได้รับผลกระทบจำนวน 9 แห่งอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งหมด ยังเปิดให้บริการประชาชนได้

นายวิทยา กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9 แห่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.พระนครศรีอยุธยา ที่.รพ.สต.ไผ่ลิง ถูกน้ำท่วมชั้นล่าง ขณะนี้ระบายออกหมดแล้ว อำเภอบางไทร 3 แห่ง คือ ที่ รพ.สต.แคออก น้ำท่วมทางเข้าสูงประมาณ 20 ซม.รถเล็กเข้าลำบาก รพ.สต.บ้านแป้ง และ รพ.สต.โคกช้าง น้ำท่วมชั้นล่างสูง 30 ซม.อำเภอบางบาล 4 แห่ง คือ รพ.สต.บางหลวงโดด น้ำท่วมใต้ถุนสูง 1 เมตร รพ.สต.น้ำเต้า ท่วมใต้ถุนบ้านพัก 2 หลัง สูง 1 เมตร รพ.สต.วัดตะกู ท่วมชั้นล่าง 40 ซม.และบ้านพักสูง 1 เมตร รพ.สต.บางบาล ท่วมพื้นชั้นล่าง 5 ซม.และอำเภอเสนา ที่ รพ.สต.หัวเวียง ท่วมบริเวณ รพ.สต.เริ่มเข้าพื้นชั้นล่าง ทุกแห่งยังเปิดให้บริการประชาชนตามปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น