“หมอบรรลุ” เผยผู้สูงอายุไทย 1 ใน 8 คน สุขภาพแย่ 70-80% มีอาการเหงา เพราะเพื่อนเสียชีวิต แนะ สธ.จัดบริการผู้สูงอายุที่ รพ.สต. 3 เรื่องหลัก พร้อมเสนอปรับปรุงกฎหมายให้รองรับผู้สูงอายุ
ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2555 ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2555 นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตประธานสภาผู้สูงอายุ ได้กล่าวระหว่างการอภิปรายเรื่อง 70 ปีไม่มีคิว การบริหารจัดการให้ผู้สูงอายุได้รับบริการที่ดี ว่า ขณะนี้ไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากร ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุมาแล้ว 2-3 ปี โดยผู้สูงอายุ 2 ใน 3 คนจะอยู่ในชนบท และมีผู้สูงอายุสุขภาพไม่ดีประมาณ 1 ล้านคน จึงเห็นว่า สถานบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งตั้งอยู่ในชนบทและอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุมากที่สุด ต้องให้ความสำคัญจัดบริการผู้สูงอายุ 3 เรื่องใหญ่ ประกอบด้วย 1.งานสร้างเสริมสุขภาพโดยให้ความรู้เรื่องโภชนาการ อาหารการกินให้ถูกต้อง การออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง และการสร้างสุขภาพจิต เนื่องจากผู้สูงอายุร้อยละ 70-80 จะมีอาการเหงาเพราะเพื่อนทยอยเสียชีวิตไป รพ.สต.จึงควรส่งเสริมให้ตั้งชมรมผู้สูงอายุทุกหมู่บ้านหรือทุกตำบล ซึ่งจะมีผู้สูงอายุเฉลี่ย 100- 1,000 คน โดยให้ผู้สูงอายุดำเนินการกันเองเพื่อผู้สูงอายุด้วยกัน การมีชมรม สมาชิกมีการพบปะ ทำกิจกรรมร่วมกัน จะช่วยให้ผู้สูงอายุทุกคนคลายเหงาและมีสุขภาพจิตดีขึ้น ชมรมจะเป็นกุญแจดอกสำคัญนำไปสู่การดำเนินงานกับผู้สูงอายุด้านอื่นๆ
นพ.บรรลุ กล่าวอีกว่า 2.งานบริการดูแลป้องกันโรค เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และ 3.การรักษาพยาบาล เมื่อผู้สูงอายุป่วยหากได้รับบริการใกล้บ้านจะสะดวกมาก เนื่องจากร้อยละ 30 ของผู้สูงอายุที่ไปพบแพทย์ เป็นผู้ไม่มีเงินและเจ้าหน้าที่ควรใช้คำพูดง่ายๆ สื่อสารความเข้าใจเนื่องจากผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 16 ไม่ได้เข้าโรงเรียน
ด้าน นพ.วีระพล ธีระพันธ์เจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังจากที่โรงพยาบาลจัดบริการผู้สูงอายุ 70 ปีที่แผนกผู้ป่วยนอก โดยไม่มีคิว ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 มีผู้สูงอายุใช้บริการวันละ 200 คนจากผู้ใช้บริการทั้งหมดเฉลี่ยวันละ 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาและกระดูก จากการประเมินผลพบว่าผู้สูงอายุพอใจ กลับบ้านเร็วขึ้น ผู้สูงอายุมีความคาดหวังว่าบริการที่ดีไม่ใช่แค่เร็ว แต่ต้องสะดวก เอื้อเฟื้อ เข้าใจ และให้ผู้สูงอายุพูดคุยมีสังคมด้วย
“อยากเสนอการบริการผู้สูงอายุให้แก่กระทรวงสาธารณสุข คือ ให้ดูแลผู้สูงอายุทุกมิติ การจัดบริการต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของผู้สูงอายุ ให้กระทรวงพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เตรียมผู้ให้บริการ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้รองรับผู้สูงอายุโดยให้ยึดถือว่าผู้สูงอายุคือผู้ที่มีบุญคุณต่อครอบครัวต่อประเทศดูแลผู้สูงอายุเสมือนเป็นบุคคลในครอบครัวเป็นปูย่าตายายจะทำให้บริการดูแลผู้สูงอายุของไทยเป็นระบบที่สมบูรณ์แบบและอบอุ่นใจ” นพ.วีระพล กล่าว