xs
xsm
sm
md
lg

“หมอยง” ยันมือเท้าปากไม่น่ากลัว พบเชื้อค็อกซากีมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอยง” ยันมือเท้าปากไม่น่ากลัว ชี้ พบเชื้อค็อกซากี มากสุด 40% ขณะที่ เอนเทอโรไวรัส พบเพียง 10% และทำให้การเสียชีวิตจากภาวะสมองอักเสบ 1 ใน 300-500 ประชากร แนะผู้ปกครองสังเกตอาการบุตรหลานและพาไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ คอนเฟิร์มวัคซีนมือเท้าปากไม่เสร็จใน 2 ปี

วันนี้ (30 ก.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังงานประชุมวิชาการวาระพิเศษ เรื่อง มือ เท้า ปาก ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ว่า โรคมือเท้าปากเป็นลักษณะของกลุ่มอาการ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด โดยจากการเก็บข้อมูลตัวอย่างในปีนี้ พบว่า เชื้อที่พบมากที่สุด คือ เชื้อค็อกซากี เอ 6 ประมาณ 40% เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ประมาณ 10% เชื้อค็อกซากี เอ16 ประมาณ 10% สายพันธุ์อื่นๆ ประมาณ 15% และตรวจไม่พบเชื้ออีกประมาณ 25% ซึ่งเชื้อในกลุ่มค็อกซากีจะมีโอกาสทำให้เกิดภาวะไข้สมองอักเสบเพียง 1 ในแสนประชากรเท่านั้น ส่วนกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ที่มีความรุนแรงมากกว่า มีโอกาสทำให้เกิดการเสียชีวิตจากภาวะไข้สมองอักเสบ 1 ใน 300-500 ประชากรในกลุ่มเด็กอายุที่ต่ำกว่า 1 ขวบ และมีโอกาสเสียชีวิต 1 ใน 3,000-5,000 ประชากรในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า โรคมือเท้าปากไม่ใช่โรคที่น่ากลัว แม้แต่ในกรณีที่ตรวจไม่พบอาการก็ตาม เนื่องจากเป็นลักษณะของกลุ่มอาการ ซึ่งอาจมีการแสดงออกของอาการไม่ครบทุกอย่าง แต่ถ้ามีอาการที่เข้าข่ายควรรีบพาบุตรหลานไปพบแพทย์ ส่วนกรณีการเกิดภาวะโรคไข้สมองอักเสบจะเกิดในกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคประจำตัว ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรช่วยกันสังเกตอาการ อาทิ มีอาการไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

ศ.นพ.ยง กล่าวด้วยว่า เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก 1 คน จะสามารถแพร่เชื้อให้กับเพื่อนได้อีก 3 คน ดังนั้น มาตรการการปิดโรงเรียนถือว่าดี เพราะเป็นการควบคุมการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม จากการรับเชื้อมาตรวจพบว่า ใน 600 ตัวอย่าง เชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยจำนวนนี้ 4 ใน 5 จะแสดงอาการของโรคมือเท้าปาก และอีก 1 ใน 5 จะเป็นเฮอร์แปงไจนา

“เฮอร์แปงไจนาจะมีอาการแผลที่ปากเพียงอย่างเดียว เดิมคิดว่าเกิดจากเชื้อค็อกซากี เอ5 แต่จากการตรวจเชื้อพบเพียง 5% เท่านั้น แสดงว่า ต้องมีเชื้อตัวอื่นร่วมด้วย แต่ยังไม่ทราบว่าเกิดจากเชื้อตัวไหน โดยจะพยายามหาสาเหตุของการเกิดโรคต่อไป” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า สำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากในประเทศไทยนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่จะผลิตวัคซีนให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนั้น คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการผลิตวัคซีนจากเชื้อตายจะมีต้นทุนในการผลิตสูง ส่วนการผลิตวัคซีนจากเชื้อเป็น จะมีปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย ฉะนั้น วิธีการป้องการที่ดีคือการรักษาความสะอาด ไม่เพียงแต่เฉพาะในเด็กเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงผู้ใหญ่ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น