ผลิตลูกอม “น้ำลายเทียม” จากเจลาตินหนังปลา ช่วยผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก ผอ.สถาบันโภชนาการ เผย ผลทดลองอาสาสมัครให้ผลดี เร่งวิจัยเพิ่ม คาดแล้วเสร็จในปีนี้ ก่อนถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รศ.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ว่า ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งช่องปาก ต้องใช้วิธีการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี ทำให้ผู้ป่วยประสบปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร รวมทั้งยังมีปัญหาต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อยลง ซึ่งมีผลต่อการเคี้ยวอาหารทั้งสิ้น ทำให้ต้องพึ่งพาการรับประทานอาหารผ่านสายยางแทน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อย ไม่ได้เกิดเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก แต่ในผู้สูงอายุก็ประสบปัญหาดังกล่าว ซึ่งการที่ต่อมน้ำลายแห้งยังทำให้การพูดจาลำบาก พูดไม่ชัด หรือในผู้ป่วยที่รับประทานยาหัวใจ บางรายอาจมีผลในการขับน้ำลายได้น้อยลง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาต่อสุขภาพทั้งสิ้น
รศ.วิสิฐ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้ ทางมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ให้ทีมวิจัยของสถาบันโภชนาการ ทำการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหา โดยล่าสุด สามารถผลิต “น้ำลายเทียม” ขึ้น เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก และผู้มีปัญหาในกลุ่มดังกล่าว ทีมวิจัยได้ทำการพัฒนามาร่วม 2 ปี โดยพัฒนามาจากเจลาตินจากหนังปลา มาผสมกับวุ้น ทำเป็นน้ำลายเทียม ทั้งนี้ ผลิตในรูปของลูกอมใช้อมในปาก เมื่อละลายก็จะทำให้ปากชุ่มชื้น ปากไม่แห้งนั่นเอง ที่ผ่านมา ได้มีการทดลองในอาสาสมัครร่วม 100 คนแล้ว ซึ่งผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2555 ก่อนจะถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
อนึ่ง ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มะเร็งช่องปากจะพบในเพศชายประมาณร้อยละ 4.5 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ขณะที่เพศหญิงไม่ค่อยพบ นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มสุรา โดยกลุ่มนี้จะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุราถึง 15 เท่า นอกจากนี้ การทานหมากพลูก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็ง รวมไปถึงการระคายเคืองจากฟันที่แหลมคม และแสงแดดก็ทำให้เกิดมะเร็งที่บริเวณริมฝีปากได้ สำหรับอาการสังเกตได้จากมีแผลเรื้อรังรักษาไม่หายเป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ ฟันโยกฟันหลุด เนื่องจากเนื้องอก มีก้อนเนื้อที่คอ เป็นต้น
รศ.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ว่า ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งช่องปาก ต้องใช้วิธีการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี ทำให้ผู้ป่วยประสบปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร รวมทั้งยังมีปัญหาต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อยลง ซึ่งมีผลต่อการเคี้ยวอาหารทั้งสิ้น ทำให้ต้องพึ่งพาการรับประทานอาหารผ่านสายยางแทน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งช่องปากต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อย ไม่ได้เกิดเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก แต่ในผู้สูงอายุก็ประสบปัญหาดังกล่าว ซึ่งการที่ต่อมน้ำลายแห้งยังทำให้การพูดจาลำบาก พูดไม่ชัด หรือในผู้ป่วยที่รับประทานยาหัวใจ บางรายอาจมีผลในการขับน้ำลายได้น้อยลง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาต่อสุขภาพทั้งสิ้น
รศ.วิสิฐ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้ ทางมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ให้ทีมวิจัยของสถาบันโภชนาการ ทำการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหา โดยล่าสุด สามารถผลิต “น้ำลายเทียม” ขึ้น เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก และผู้มีปัญหาในกลุ่มดังกล่าว ทีมวิจัยได้ทำการพัฒนามาร่วม 2 ปี โดยพัฒนามาจากเจลาตินจากหนังปลา มาผสมกับวุ้น ทำเป็นน้ำลายเทียม ทั้งนี้ ผลิตในรูปของลูกอมใช้อมในปาก เมื่อละลายก็จะทำให้ปากชุ่มชื้น ปากไม่แห้งนั่นเอง ที่ผ่านมา ได้มีการทดลองในอาสาสมัครร่วม 100 คนแล้ว ซึ่งผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2555 ก่อนจะถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
อนึ่ง ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มะเร็งช่องปากจะพบในเพศชายประมาณร้อยละ 4.5 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ขณะที่เพศหญิงไม่ค่อยพบ นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มสุรา โดยกลุ่มนี้จะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุราถึง 15 เท่า นอกจากนี้ การทานหมากพลูก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็ง รวมไปถึงการระคายเคืองจากฟันที่แหลมคม และแสงแดดก็ทำให้เกิดมะเร็งที่บริเวณริมฝีปากได้ สำหรับอาการสังเกตได้จากมีแผลเรื้อรังรักษาไม่หายเป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ ฟันโยกฟันหลุด เนื่องจากเนื้องอก มีก้อนเนื้อที่คอ เป็นต้น