xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ-นายกสภาพยาบาล เห็นตรงตรวจเลือดแต่ไม่ควรตัดสิทธิ์ให้ นศ.ออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอไพจิตร์” ชี้ การตรวจเลือด นศ.ทำได้แต่ต้องไม่ตัดสิทธิ์การเรียน ขณะที่ สภาการพยาบาล ชี้ นโยบายระดับชาติไม่ได้แนะให้ตรวจเลือด นศ.พยาบาล หรือแพทย์ เป็นเรื่องของสถาบันกำหนดเอง และไม่มีบทลงโทษสถาบันด้วย พร้อมแนะสถาบันควรทำความเข้าใจกัน ระบุการทำงานใกล้ชิดคนป่วยโอกาสเสี่ยงรับเชื้อฉวยโอกาสสูง

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีการตรวจเลือดนักศึกษาพยาบาลหรือนักศึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวี ว่า โดยหลักการหากจะตรวจก็สามารถทำได้ แต่ต้องบอกกล่าว และหากพบนักศึกษามีการติดเชื้อก็ไม่ควรให้ออก เนื่องจากเป็นสิทธิที่พวกเขายังคงศึกษาต่อได้ เพราะไม่ได้มีผลต่อการเรียน หากดูแลตัวเองดี อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วในวงการทุกสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าอาชีพใดก็ตาม ล้วนมีคนที่ติดเชื้อเอชไอวี เพียงแต่ไม่ทราบกันเท่านั้น อย่างแพทย์พยาบาลก็คงมี ซึ่งตรงนี้ต้องทำความเข้าใจว่า หากพวกเขามีการติดเชื้อจริง ก็ต้องดูแลตัวเองไม่ให้อาการทรุดหนัก ที่สำคัญต้องไม่เป็นตัวแพร่เชื้อ แต่การที่จะไปตัดสิทธิ์ไม่ให้เรียนหรือทำงานเลย ย่อมทำไม่ได้

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า แนวนโยบายระดับชาติไม่มีการแนะนำให้ตรวจเลือดนักศึกษาพยาบาลหรือแพทย์ แต่เป็นเรื่องของสถานบันการศึกษาเองว่า จะให้นักศึกษาตรวจหรือไม่ และไม่มีบทลงโทษสำหรับสถาบันการศึกษาที่บังคับให้นักศึกษาตรวจเลือดแต่อย่างใด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจในระดับวงกว้างต่อไป ว่าจะวางแนวทางปฏิบัติอย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าว สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับนักศึกษาเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลในปัจจุบันก็มีผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี แต่ทางการแพทย์จะมีวิธีปฏิบัติต่อคนไข้ และวิธีป้องกันตนเองและคนไข้อยู่ ซึ่งโดยทั่วไปบุคลากรที่รู้ตัวว่าติดเชื้อเอชไอวี ก็จะไม่ให้บริการที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อตนเองและคนไข้ ซึ่งในส่วนการป้องกัน สถาบันการศึกษาน่าจะมีความเป็นห่วงตัวนักศึกษาเอง เพราะผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยปกติจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ และมีโอกาสเสี่ยงที่ติดเชื้อฉวยโอกาสจากคนไข้ การหลีกเลี่ยงสัมผัสคนไข้จึงเป็นผลดีต่อตัวผู้ติดเชื้อไม่ให้ได้รับเชื้อฉวยโอกาสด้วยส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบันนั้นมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวีจากผู้ป่วยอยู่เสมอ เช่น โดนเข็มตำและได้รับเชื้อจากผู้ป่วย ซึ่งอุปกรณ์การป้องกันในปัจจุบัน เช่น แว่นตากันสารคัดหลั่ง ถุงมือ ที่จะป้องกันเข็มแทงก็ยังมีไม่เพียงพอนัก ฉะนั้น กรณีดังกล่าว สถาบันการศึกษาจำเป็นจะต้องให้คำปรึกษาและให้นักศึกษาเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าจะเรียนต่อในสาขาเดิมหรือย้ายสาขา
กำลังโหลดความคิดเห็น