ได้อย่างไม่เสียอย่างสัปดาห์นี้ ขอเกาะกระแสโอลิมปิกกับเขาด้วยคนครับ อันเนื่องมาจากข่าวเล็กๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ได้พูดถึงการแจกถุงยางอนามัยให้นักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกของอังกฤษประเทศเจ้าภาพ โดยนักกีฬาหนึ่งคนจะได้รับแจกถุงยาง 15 ชิ้น คำนวณกันว่า อาจจะต้องใช้ถุงยางถึง 150,000 ชิ้นกันเลยทีเดียวสำหรับโอลิมปิกคราวนี้
ในมุมคนทำงานเรื่องเพศเรื่องเอดส์ ผมปรบมือให้เลยครับ เพราะเท่ากับว่าเจ้าภาพสามารถมองสถานการณ์ได้ทะลุว่าคนหนุ่มคนสาวจำนวนมากมาอยู่ด้วยกันเป็นเวลาแรมเดือน ธรรมชาติก็ย่อมมีปิ๊งปั๊งกันบ้างเป็นของธรรมดา และหากจะมีเพศสัมพันธ์กันการป้องกันก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยป้องกันทั้งเรื่องท้อง และเรื่องโรคโดยเฉพาะเอชไอวี ซึ่งเราไม่อาจดูออกว่าใครบ้างเป็นผู้ติดเชื้อ
นักกีฬาแข็งแรงๆ นี่ล่ะครับก็อาจมีเชื้อเอชไอวีได้ ก็อย่างกรณีของ เมจิก จอห์นสัน นักบาสเกตบอลชื่อดังที่ออกมาประกาศว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อไงครับ และผมมองว่า อังกฤษเองก็คงเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าว จึงหาวิธีที่จะให้นักกีฬาเข้าถึงถุงยางได้ง่าย ก็แจกเป็นรายตัวเลยครับ ง่ายดี...ส่วนใครจะใช้หรือไม่ได้ใช้ก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล
(b) การเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันเป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งกับทุกกลุ่มคน แต่จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าในประเทศเรานั้น ถุงยาง “เข้าถึงยาก” จริงๆ (b)
ความยากประการแรก คือ เรื่องทัศนคติที่มีต่อถุงยาง หลายคนไม่กล้าซื้อไม่กล้าพก เพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี ยิ่งเป็นผู้หญิงด้วยแล้วก็ยิ่งยาก เพราะถูกสอนมาให้รักนวลสงวนตัว น้องผู้หญิงคนหนึ่งเคยบอกว่าการพกถุงยางติดตัวไว้ มันเหมือนจะเตรียมพร้อมมีเพศสัมพันธ์เลย ไม่กล้าพกเช่นเดียวกับวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ sexactive ผู้ใหญ่มักบอกให้เขาอดเปรี้ยวไว้กินหวาน มีเพศสัมพันธ์เมื่อถึงวัยอันควร (ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่คือวัยอันควร) แต่คำสอนกับธรรมชาติของร่างกายมันไม่สอดคล้องกันนี่ครับ ดังนั้น หากวัยรุ่นจะมีเพศสัมพันธ์และอยากป้องกันจะเดินเข้าไปซื้อถุงยางก็จะถูกคนขายซึ่งเป็นผู้ใหญ่มองตั้งแต่หัวจรดเท้าบางรายก็ไม่ขายให้แถมยังเทศนาสั่งสอน
เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไม่ได้ป้องกันและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการส่งต่อเชื้อเอชไอวีทั้งสิ้น
ความยากประการต่อมา คือ เรื่องราคา ถุงยางอนามัยหนึ่งกล่อง ที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ไม่ใช่ถูกๆ นะครับ กล่องหนึ่งบรรจุ 2 หรือ 3 ชิ้น ราคาตั้งแต่ 40-60 บาท ซื้อข้าวกินได้จานหนึ่งเลย หากเป็นเยาวชนที่ยังต้องเรียนหนังสือ ไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง คิดแค่ว่ามีเซ็กซ์อาทิตย์ละครั้ง เดือนหนึ่งก็ต้องใช้เงินซื้อถุงยางกว่า 200 บาทแล้ว เอาล่ะ...ในรายที่คิดว่าไม่อยากเสียสตางค์ และใช้วิธีเดินไปขอถุงยางอนามัยที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ก็ถูกมองถูกถามอีกว่าจะเอาไปทำอะไร บางแห่งต้องลงบันทึกชื่อผู้ขอไว้ พอขอหลายชิ้นก็ถูกถามอีกว่าจะเอาไปทำไมเยอะแยะ เจอขนาดนี้ก็ท้อแล้วครับ ใครจะกล้าไปขอ ท้ายที่สุดก็มีเซ็กซ์แบบไม่ได้ป้องกัน
ผมคิดว่า หากอยากให้การป้องกันเอชไอวีเกิดขึ้นได้จริง ก็ต้องกำจัดอุปสรรคการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันให้หมดไป เข้าใจได้อยู่ครับว่า ทัศนคติต่อเรื่องเพศเรื่องถุงยางคงไม่ง่าย ที่จะเปลี่ยนแต่ถ้าเริ่มจากทำให้ถุงยางเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคา และมีวางขายทั่วไปก่อนก็น่าจะทำได้ หากคิดว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลาตระเตรียมนาน ผมเสนอว่าระหว่างนี้ให้รัฐแจกถุงยางแบบ “ไม่อั้น” ในทุกที่ลองดูสักตั้งไหมครับ ทั้งรัฐและ NGO มาช่วยกันทำหน่วยงานพิเศษที่ทำหน้าที่จัดหาและกระจายถุงยาง เพราะคำนวณทุกทิศทางแล้วยังไงการป้องกันเอชไอวีก็ใช้งบถูกกว่าการรักษาแน่นอนครับ