xs
xsm
sm
md
lg

ไข่แลกยาใน กทม.33 จุด หวังคนกรุงใช้ยาถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ขยายโครงการไข่ใหม่แลกยาเก่าในพื้นที่ กทม.คาด 5 วัน ได้คืนกว่า 100 ล้านเม็ด ชี้ รับคืนเฉพาะยา แผนปัจจุบันแบบเม็ดหรือแคปซูลที่ไม่ได้ใช้แล้ว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้การใช้ยาที่ถูกต้อง เริ่ม 23 ก.ค.นี้




วันนี้ (23 ก.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ “ไข่ใหม่แลกยาเก่า” ที่ รพ.ราชวิถี เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนในพื้นที่ กทม.ว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการไข่ใหม่แลกยาเก่าในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีประชาชนประมาณ 70 ล้านคน เมื่อวันที่ 2-6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่า ประสบความสำเร็จได้รับคืนยาเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วกว่า 37 ล้านเม็ด และทราบสาเหตุที่มียาเหลือส่วนใหญ่เกิดจากประชาชนใจร้อน อยากหายป่วยเร็วๆ กินยาได้ 1-2 วันไม่หายก็เปลี่ยนหมอใหม่ตามที่เพื่อนบ้านหรือคนรู้จักแนะนำ และใช้ยาตัวใหม่โดยไม่รู้ว่าเป็นยาชนิดเดียวกัน และเก็บยาไว้หลายที่จนลืม

นายวิทยา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายโครงการในพื้นที่ กทม.ซึ่งเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศด้วย มีประชากรหนาแน่นประมาณ 7 ล้านคน เพื่อจะได้รู้สาเหตุที่แท้จริงในการใช้ยาของคนเมือง รวมทั้งสิทธิ์การรักษา เพื่อนำไปเป็นข้อมูลวางแผนแก้ไขปัญหาการใช้ยาของคนในเขตเมืองได้อย่างถูกจุด ปรับเปลี่ยนสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาอย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยเปิดจุดรับแลกยาคืนที่โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิตที่อยู่ในพื้นที่ กทม.ทั้ง 10 แห่งรวมทั้งหมด 33 จุด กระจาย 50 เขตในกทม. ทั้งในโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และชุมชนต่างๆ ดำเนินการพร้อมกันระหว่างวันที่ 23-27 กรกฎาคม 2555 เวลา 10.00-18.00 น.

“การขยายโครงการในพื้นที่ กทม.เป็นเพราะมีผู้ร้องขอ และได้รับความสนใจค่อนข้างมาก โดยคาดว่าวันนี้จะมีประชาชนนำยามาแลกไข่เป็นจำนวนหลายร้อยราย ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแต่ละแห่งให้ไปดำเนินการแล้ว"นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าวัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ คือต้องการให้ประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการใช้ยา โดยที่จุดรับคืนยาเก่าจะมอบไข่ให้ประชาชนที่นำยาเก่ามาคืนครอบครัวละไม่ต่ำกว่า 5 ฟอง โดยจัดทีมเภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา พร้อมแจกแผ่นพับให้ความรู้ ซึ่งเบื้องต้นจัดทำจำนวน 100,000 แผ่น แนะนำวิธีการเก็บยา การอ่านฉลากก่อนใช้ยาอันตรายจากการไม่ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง และลักษณะยาหมดอายุ เพื่อให้ประชาชนใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการใช้ยาซึ่งมีมูลค่าสูงถึงปีละ 1.5 แสนล้านบาทหรือเกือบครึ่งหนึ่งของรายจ่ายด้านสุขภาพ โดยคาดว่า ตลอดโครงการจะมีประชาชนนำยามาคืนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเม็ด ทั้งนี้ ยาที่รับคืนจะรับเฉพาะยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาเม็ดหรือยาแคปซูลที่ไม่ได้ใช้แล้ว ไม่รวมยาน้ำ ครีม และยาแผนโบราณ โดยนำยาเก่าทั้งหมดรวบรวมที่กรมการแพทย์เพื่อทำลายทิ้งต่อไป

นายแพทย์ นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องที่สำคัญของการใช้ยา คือ ต้องกินยาตามแพทย์สั่ง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่รักษาโรคติดเชื้อ จะต้องกินจนครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคดื้อยา ซึ่งจะทำให้ต้องใช้ยาที่แรงขึ้น ราคาแพงขึ้น ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคจิต หากกินยาไม่ต่อเนื่อง อาจเกิดอาการกำเริบ หรือเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เป็นอันตรายถึงชีวิตหรือพิการได้ ในการเก็บรักษายา ควรเก็บไว้ในขวด แผง หรือซองตามที่ได้รับมา เก็บให้พ้นมือเด็ก ไม่ถูกแสง ความร้อน และความชื้น ไม่เก็บไว้ในรถยนต์ เพราะความร้อนจะทำให้ยาเสื่อมสภาพเร็วยาที่ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นให้ใส่ในช่องธรรมดา ไม่ใส่ช่องแช่แข็ง และต้องตรวจดูยาที่หมดอายุ หรือเสื่อมสภาพยาที่ไม่มีฉลากหรือฉลากลบเลือนไม่ชัดเจนให้เก็บทิ้ง วิธีการสังเกตยาหมดอายุง่ายๆ หากเป็นยาเม็ด เม็ดยาจะแตก ร่อน กะเทาะเปลี่ยนสี สีซีด ตกกระ ยาเม็ดเคลือบเยิ้ม เหนียว ยาแคปซูลบวม โป่งพอง ผงยาภายในจับกันเป็นก้อน หรือเปลี่ยนสี หากเป็นยาน้ำเชื่อม น้ำยาจะขุ่น มีตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูดหรือเหม็นเปรี้ยว

ส่วนยาที่เป็นครีม หรือยาขี้ผึ้ง จะมีการแยกตัว แข็งเกินไป บีบไม่ออก สีของยาเปลี่ยน หรือมีจุดด่างดำเกิดขึ้น นอกจากนี้ ให้ดูฉลากยา ซึ่งจะระบุวันผลิตและวันที่ยาหมดอายุ หากไม่มีวันหมดอายุ ดูได้จากวันผลิต ถ้าเป็นยาเม็ดมีอายุไม่เกิน 5 ปี ยาน้ำและยาใช้ภายนอกมีอายุไม่เกิน 3 ปีนับจากวันผลิต

ทั้งนี้ จุดบริการที่เปิดรับแลกคืนยาในครั้งนี้ มีทั้งหมด 33 จุด ได้แก่ 1.โรงพยาบาลราชวิถี 2.สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 3.กรมสารวัตรทหาร 4.โรงพยาบาลเลิดสิน 5.วัดยางสุขุมวิท 6.โรงงานวาโก้ ถนนพระราม 3 7.โรงพยาบาลสงฆ์ 8.วัดเทพลีลารามคำแหง 9.วัดพรมวงศาราม (ดินแดง) 10.สถาบันประสาทวิทยา 11.ชุมชนบ้านครัว เขตราชเทวี 12.ชุมชนย่านถนนสุโขทัย 13.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 14.ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพระราม 3 15.ห้างเซ็นทรัลพระราม 9 16.สถาบันโรคผิวหนัง 17.ชุมชนทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ 18.ชุมชนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา 19.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 20.ชุมชนวัดมะกอก เขตพญาไท 21.ชุมชนประชาระบือธรรม เขตดุสิต 22.สถาบันราชานุกูล 23.ศูนย์ 3 วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว เขตดินแดง 24.บริเวณตลาดดินแดง 25.สถาบันสุขภาพจิตสมเด็จเจ้าพระยา 26.ห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า 27.ห้างเซ็นทรัลพระราม 2 28.โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 29.ชุมชนภราดรพัฒนา เขตมีนบุรีในวันที่ 23 ก.ค. 30.ชุมชนสุวรรณประสิทธิ เขตบึงกุ่มในวันที่ 24 ก.ค.31.ชุมชนดารุลอินด๊ะ เขตคลองสามวา ในวันที่ 25 ก.ค.32.ชุมชนสุเหร่าแดง เขตคันนายาว ในวันที่ 26 ก.ค.และ 33.แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา ในวันที่ 27 ก.ค. 2555







กำลังโหลดความคิดเห็น