xs
xsm
sm
md
lg

เผยสุรินทร์สั่งปิดสถานศึกษาถึง 13 แห่ง หลังมือเท้าปากระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เร่งประชุมร่วม สสจ.คุมเข้มมือเท้าปาก เผย จ.สุรินทร์ สั่งปิดสถานศึกษา 13 แห่ง ขณะสระแก้วคุมเข้มพื้นที่ชายแดน

วันนี้ (11 ก.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานในการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ชายแดนติดประเทศกัมพูชา 7 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สระแก้ว ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี และ ตราด เพื่อรับทราบรายงานสถานการณ์โรคมือเท้าปาก โดยนายวิทยา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า จากที่ได้รับรายงานยังไม่พบว่า สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงในพื้นที่จังหวัดชายแดน มีเด็กกัมพูชาเข้ารับการรักษาเกินกว่ายอดปกติ และเด็กที่พบป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในแต่จังหวัดทั้งหมดเป็นเด็กไทย เกิดจากเชื้อชนิดไม่รุนแรง ยังไม่พบเชื้อชนิดรุนแรงเหมือนที่ระบาดในประเทศกัมพูชา โรคนี้ในไทยจึงไม่น่ากลัว แต่ต้องรู้ทัน และเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ศูนย์เด็กเล็กต้องเน้นเรื่องความสะอาด สุขอนามัย

นพ.สุรพร ลอยหา สสจ.อุบลราชธานี รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปี 2555-ต้นเดือน ก.ค.2555 จ.อุบลฯ มีผู้ป่วยสะสมโรคมือ เท้า ปาก 309 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และจากการเข้าเฝ้าระวัง อ.น้ำยืน ซึ่งติดชายแดนกัมพูชายังไม่พบผู้ป่วยชาวกัมพูชาเข้ามารักษาในไทย

นพ.ประวิ อ่ำพันธุ์ สสจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า สถานการณ์ภายในจังหวัดจึงไม่น่ามีปัญหา ส่วนบริเวณชายแดนมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

นพ.สอาด วีระเจริญ สสจ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2555 ถึงเดือนมิถุนายน จ.สุรินทร์มีผู้ป่วยสะสม 249 ราย มีการระบาดมากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน จำนวน 123 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต และจากการตรวจสอบยังไม่พบการป่วยจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 เหมือนในประเทศกัมพูชา ภายในจังหวัดดำเนินการปิดศูนย์เด็กเล็กแล้ว 13 ศูนย์ โดยเฉพาะศูนย์ที่อยู่บริเวณชายแดน เพราะมีเด็กกัมพูชาที่ตามพ่อแม่เข้ามาค้าขายเข้าอยู่ในศูนย์เด็กเล็กของไทยด้วย และปิดชั้นเรียน 1 ชั้นในอำเภอเมือง นอกจากนี้ หน่วยควบคุมโรคในพื้นที่ได้ล้างศูนย์เด็กเล็กทั้งหมดในอำเภอที่มีการระบาดของโรค
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ด้านนพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ สสจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ตลอดต้นปี 2555 จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม 137 ราย เฉลี่ยเดือนละ 10-15 ราย มากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน จำนวน 53 ราย เดือน ก.ค.พบผู้ป่วยแล้ว 22 ราย แนวโน้มผู้ป่วยภายในจังหวัดสูงขึ้น แต่เป็นเขตอำเภอชั่นใน ส่วน อ.แนวชายแดนสถานการณ์ของโรคยังปกติ

ขณะที่นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ สสจ.สระแก้ว กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจังหวัดพบผู้ป่วย 90 ราย สูงสุดช่วงเดือน มิ.ย.จำนวน 35 ราย อายุมากสุด 4 ปี อำเภอที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อ.เมือง อ.อรัญประเทศ และ อ.คลองหาร ส่วนพื้นที่ตลาดโรงเกลือที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีคนกัมพูชาเดินทางเข้าออกผ่านด่านชายแดนอย่างต่อเนื่อง จังหวัดได้มีการดำเนินการป้องกันโรค โดยการคัดกรองผู้ป่วยที่ด่านควบคุมโรค ภายใต้การดำเนินการของศูนย์ป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 3 รวมทั้งจัดตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังผู้ป่วย ซึ่งยังไม่พบผู้ป่วยกรณีเหมือนในประเทศกัมพูชา แจ้งสถานพยาบาลแนวชายแดนทุกแห่งพบผู้ป่วยชนิดเดียวกับกัมพูชารายงานทันที โดยได้แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เฝ้าระวังศูนย์เด็กเล็ก และจะจัดการทำความสะอาดศูนย์เด็กเล็กครั้งใหญ่ หรือ บิ๊ก คลีนนิง เดย์ ในวันศุกร์ 13 ก.ค.นี้ นอกจากนี้ หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยจะต้องเก็บเชื้อส่งตรวจทันที และจากการหารือร่วมกับ จ.บันเตียเมียนเจย ได้รับรายงานว่า จังหวัดดังกล่าวไม่พบผู้ป่วย โดยขณะนี้ยังไม่มีเด็กกัมพูชาเข้ามาใช้บริการผิดปกติ

นพ.กฤษณ์ ปาลสุทธิ์ สสจ.จันทบุรี กล่าวว่า พบผู้ป่วยแล้ว 148 รายไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากสุดช่วงเดือน มิ.ย.จำนวน 66 ราย แนวโน้มสถานการณ์โรคในจังหวัดลดลง ส่วนพื้นที่ชายแดนมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

นพ.ชุมพล สุวรรณ สสจ.ตราด กล่าวว่า พบผู้ป่วยทั้งหมด 40 ราย อัตราป่วยอยู่ที่ 18.11 ต่อแสนประชากร ไม่พบผู้เสียชีวิต และยังไม่มีผู้ป่วยต้องสงสัยจากกัมพูชาเข้ามารับการรักษาภายในจังหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น