xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตรียมดันสตรี-วัยรุ่น-เยาวชน เข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยไทยเริ่มพบปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ เตรียมขับเคลื่อนนโยบายอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างมีคุณภาพให้สตรี วัยรุ่น และเยาวชน ลดปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

วันนี้ (11 ก.ค.) นายแพทย์ นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมวิชาการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร ว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จในนโยบายชะลออัตราเพิ่มประชากร ทำให้จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง แต่กลับพบปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ดังนั้น ในปี 2553 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบนโยบายเร่งพัฒนาสาธารณสุขและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2557) เพื่อส่งเสริมให้คนทุกเพศ ทุกวัยมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี โดยใช้ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.เสริมสร้างครอบครัวและเด็กรุ่นใหม่ ให้เข้มแข็ง และมีคุณภาพ 2.ส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัยมีพฤติกรรมอนามัยเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศที่เหมาะสม 3.พัฒนาระบบบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่มีคุณภาพและให้มีประสิทธิภาพ 4.พัฒนาระบบบริหารจัดการงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศแบบบูรณาการ 5.พัฒนากฎหมาย กฎ และระเบียบ และ 6.พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ เทคโนโลยีอนามัยการเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศ
แฟ้มภาพ
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ การให้คำปรึกษาและบริการทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ยังรองรับสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่จะได้รับบริการตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ ระยะคลอดและหลังคลอด และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” รองปลัด สธ.กล่าว

นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2553-2557) เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังนี้ 1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์แบบบูรณาการ 2) ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น เช่น สนับสนุนการจัดตั้งคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงการให้คำปรึกษา บริการด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ และ 3) ส่งเสริมการเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้ชายหญิง วัยเจริญพันธุ์มีความรู้ เกิดความตระหนัก และเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น