xs
xsm
sm
md
lg

“ปราโมทย์” จี้ รบ.ศึกษาชลศาสตร์ แนะ ปชช.ตื่นตัวข้อมูลน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ปราโมทย์” ไม่ห่วงน้ำท่วมปีนี้ ชี้แผนรับมือของ รบ.ยังไม่น่าไว้ใจ เพราะขาดการศึกษาข้อมูลชลศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม จวกไม่พูดความจริง และให้ข้อมูลแก่ ปชช.ทำให้ขาดการเตรียมตัวรับมือ แนะต้องตื่นตัวต่อข้อมูลให้มากขึ้น ด้านกรมอุตุฯฟุ้ง จัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ ปชช.แล้ว

วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวภายในงานสัมมนา “รับรู้...สู้ภัยน้ำ” ว่า แนวโน้มสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2555 ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แม้จะมีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ยน้ำฝน 30 ปี แต่ปริมาณยังน้อยกว่าปี 2554 สิ่งที่น่าห่วงมากกว่า คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว ว่า จะมีมาตรการในการรับมือและการป้องกันอย่างไร เพราะในอนาคตข้างหน้า 10-20 ปี ต้องมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนปลายปี 2554 อีกแน่นอน ฉะนั้น การรับมือกับปัญหาอุทกภัยที่เหมาะสมในช่วงนี้คือ การตื่นตัวต่อข้อมูลต่างๆให้มากขึ้น

นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาคือรัฐบาลไม่พูดความจริงกับประชาชน บอกเพียงว่าเอาอยู่ หรือเอาไม่อยู่ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ สิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ไขคือ การบอกข้อมูลและสถานการณ์ที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่ประชาชน อาทิ สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เส้นทางน้ำไหล ปริมาณน้ำฝน จำนวนและสถานที่ที่พายุจะพัดผ่าน รวมถึงลักษณะของคลองต่างๆที่มีอยู่ในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องศึกษาข้อมูลดังกล่าวให้มาก เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาระยะยาวให้ชัดเจน

นายปราโมทย์ กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาต้องแยกตามลักษณะของพื้นที่แต่ละจุด ไม่สามารถใช้ยุทธศาสตร์เดียวกันเพื่อแก้ปัญหาในทุกพื้นที่ได้ ซึ่งขณะนี้การแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลทำได้เพียงแก้ปัญหาในระยะสั้น อาทิ การขุดลอกคูคลอง การสร้างเขื่อน ขณะที่มาตรการทางชลศาสตร์ยังไม่มีการศึกษาข้อมูลที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องของมอเตอร์เวย์ ฟลัดเวย์ และทางระบายน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว

“ตอนนี้มีแต่เพียงการสร้างแนวคิดในการแก้ปัญหา แต่การลงพื้นที่ การสำรวจ การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลยังไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน คือ การใช้ยุทธศาสตร์การปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับน้ำอย่างเป็นสุข หากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมขึ้น” นายปราโมทย์ กล่าว

ดร.สมชาย ใบม่วง รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุฯได้จัดทำข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปวิเคราะห์และแก้ปัญหาน้ำท่วมในรูปแบบของข้อมูลดิจิทัลแล้ว ทั้งข้อมูลแบบจำลองต่างๆ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน ข้อมูลการตรวจสภาพอากาศด้วยเรดาห์ รวมถึงสาเหตุของการเกิดฤดูฝนในประเทศไทย ซึ่งกรมอุตุฯยินดี หากรัฐบาลนำข้อมูลดังกล่าวไปบูรณาการในการแก้ปัญหาน้ำท่วม และกรมอุตุฯก็พยายามที่จะนำข้อมูลดังกล่าวสื่อไปให้ถึงประชาชนด้วยเท่าที่สื่อของกรมอุตุฯมี

ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ในฐานะคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น บ่งบอกว่าประเทศไทยทำงานโดยไม่มีการวางแผน ฉะนั้น การบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดการพัฒนาต้องไม่ใช้วิธีการรวมศูนย์ แต่ต้องให้แต่ละชุมชนมีการบริหารจัดการน้ำเอง แต่ต้องมีการทำอย่างเป็นระบบ รวมถึงต้องมีการสื่อสารข้อมูลกับชุมชนในเรื่องของการเตือนภัยด้วย นอกจากนี้ ในภาคเอกชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำชุมชนได้ ด้วยการจัดกิจกรรม CSR ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น