xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สมิทธ” ชี้ไทยมีหน่วยงานดูแลน้ำมากเกินไป แต่ไร้ประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระนครศรีอยุธยา - อบจ.พระนครศรีอยุธยา จัดสัมมนา “โครงการท้องถิ่นร่วมใจ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม” “ดร.สมิทธ ธรรมสโรช” ชี้ปัจจุบันเมืองไทย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำมากเกินไปเกือบ 20 หน่วย แต่กลับไร้ประสิทธิภาพ

วันนี้ (28 ก.พ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา ได้จัดสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “โครงการท้องถิ่นร่วมใจ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม” ณ ห้องสุวรรณภูมิ ชั้น 2 โรงแรมวรบุรี อโยธยา คอนเวนชั่น รีสอร์ท จ.พระนครศรีอยุธยา โดยวิทยากรประกอบด้วย ดร.ปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา รองประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ดร.อรัญ โสตถิพันธ์ เป็นพิธีกร

ในการสัมมนาครั้งนี้ มีการแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย ส่วนใหญ่จะมีการพูดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ตลอดจนความบกพร่องในการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำ ตลอดจนเปิดให้มีการรับฟังปัญหาจากผู้นำชุมชนในแต่ละตำบล ทั้ง 16 อำเภอของ จ.พระนครศรีอยุธยา เกี่ยวกับกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

ทั้งนี้ ดร.สมิทธ กล่าวว่า เมืองไทยเราตอนนี้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำเกือบ 20 หน่วย ซึ่งมากเกินความจำเป็นและแต่ละหน่วยเวลามีปัญหาก็ไม่เคยเข้ามารวมตัวคุยกันเพื่อแก้ปัญหา แต่ต่างคนต่างทำงาน การทำงานเลยแตกต่างกันไปคนละแนวทาง ซึ่งสมัยตนมีแค่ 2 หน่วยงาน คือ กรมชลประทาน และกรมอุทกภัยฯ จึงทำงานประสานกันได้ การปล่อยน้ำเป็นสิ่งสำคัญ

“เมื่อเรารู้ว่าปีนี้น้ำจะมาเยอะเราก็ควรมีการบริหารจัดการเพื่อระบายน้ำออกและคอยรับน้ำใหม่จากพายุที่กำลังจะมา สำหรับเรื่องที่ว่า พายุจะเข้ามาเมืองไทยเกือบ 20 ลูกนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะแค่ 2 ลูกที่มาคือพายุไห หม่า และพายุนกเตน ก็ทำเอาน้ำท่วมขนาดนี้แล้ว ถ้ามาถึง 20 ลูก คงต้องย้ายไปอยู่ประเทศอื่นแล้ว”

ด้าน นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ทางนิคมฯได้เตรียมแผนรองรับน้ำท่วมไว้แล้ว มีการออกแบบคันกั้นน้ำโดยอาศัยระดับน้ำท่วมในปี 2554 เป็นหลักในการออกแบบแล้วบวกเพิ่มไปอีกไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร ของคันกั้นน้ำ และสำหรับงบประมาณของแต่ละพื้นที่มีความชัดเจน ว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ถึงจะมีความเหมาะกับพื้นที่ หากทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะใช้การกักเก็บน้ำในระบบแกล้มลิงจากตอนบนลงมาข้างล่าง คาดว่าทางนิคมฯน่าจะมีผลกระทบน้อยลง และรับมือได้โดยใช้น้ำท่วม แม้ปริมาณน้ำจะมากกว่าปี 2554 ก็สามารถรับน้ำได้

ทางด้าน ดร.ปราโมทย์ กล่าวว่า ข้อสรุปของปัญหาทั้งหมดในแต่ละที่แต่ละแห่งมารวมกองกันแล้วแก้ปัญหา โดยต้องแก้ปัญหาว่า ถ้าน้ำปี 2555 มาเหมือนกับปี 2554 จะดำเนินการแก้ไขอย่างไร เขื่อนและประตูระบายน้ำที่พังหรือชำรุดทรุดโทรม ก็ให้มีการซ่อมบำรุง หลังจากนั้นต้องทำความเข้าใจเรื่องเบี่ยงเบนน้ำในที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาอย่าปี 2554 ให้ชัดเจน โดยให้ชลประทานในท้องที่ได้รับทราบว่าการปฏิบัติในพื้นที่ต้องมีความสำคัญ เข้าไปหาชุมชนว่าเขามีปัญหาอะไร การที่การสอบถามมาว่าน้ำจะท่วมอีกมากไหมไม่สามารถตอบได้ แต่ขึ้นอยู่ที่การหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไรในการบริหารจัดการน้ำ



กำลังโหลดความคิดเห็น