xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” หนุนชาวโลกใช้หลักธรรมพระพุทธองค์สร้างสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ยิ่งลักษณ์” กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ชูชาวโลกใช้หลักธรรมพระพุทธองค์สร้างสันติภาพ ลดความรุนแรง ด้านประธานาธิบดีศรีลังกา แนะผู้นำทั่วโลกใช้หลักอหิงสาบริหารประเทศ เชื่อ ลดความขัดแย้งสร้างสงบสุข

วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ วันนี้เป็นวันที่ 3 ที่จัดการประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 9 วันสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรื่อง พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้ ก่อนการประชุมผู้นำประมุขสงฆ์ และชาวพุทธนานาชาติจาก 85 ประเทศทั่วโลก ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมทั้งมีการอ่านสาส์นจากบุคคลสำคัญ อาทิ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ นางอิรินา โบโควา เลขาธิการองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมหินทรา ราชปักษา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ได้เดินทางมาร่วมการประชุมพร้อมกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมชาวพุทธนานาชาติ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการฉลองพุทธชยันตี เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลก เห็นว่า หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความสำคัญที่จะสามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกได้ รวมทั้งมีหลักคำสอนที่ไม่ให้ใช้ความรุนแรง และสอนให้มวลมนุษย์เคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งเรื่องของสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรงนั้น เวลานี้เหมาะสมกับประเทศไทย ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนทั่วไปจะได้ความรู้ ความเข้าใจในสาระสำคัญในพุทธธรรม และก่อให้เกิดความสงบสุข ความสงบ แก่พุทธศาสนิกชนและมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง

ด้าน นายมหินทรา กล่าวว่า ตนได้น้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาใช้ในการบริหารประเทศ ซึ่งผู้นำของศรีลังกาได้ใช้หลักธรรมนี้บริหารประเทศมาหลายทศวรรษแล้ว โดยใช้หลักอหิงสา มีเมตตาธรรมกับผู้อื่น รู้จักการเสียสละให้อภัยซึ่งศรีลังกาเคยผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงแต่ก็ผ่านพ้นด้วยหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าหากผู้นำทั่วโลก นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาใช้บริหารประเทศด้วยหลักอหิงสา คือ หลีกเลี่ยงความรุนแรง ไม่เบียดเบียน และเคารพในชีวิตของผู้อื่น เชื่อว่า ทั่วโลกจะไม่เกิดความไม่ความขัดแย้ง ที่นำไปสู่ความรุนแรง จะทำให้โลกเกิดความสงบสุขและเกิดสันติภาพได้

ต่อมาเวลา 15.00 น.ที่ประชุมผู้นำชาวพุทธ 85 ประเทศ รวมกันประกาศปฏิญญากรุงเทพมหานคร โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.ตระหนักว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เมื่อ 2600 ปีที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อมนุษยชาติทั่วโลกในการเปลี่ยนชีวิต ดังนั้น เราจึงจะต้องพยายามตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 และเผยแผ่หลักคำสอนเรื่องสันติภาพแก่ชาวโลก

2.ความขัดแย้งในโลกมีความซับซ้อนหลายมิติ คือ มิติทางด้านบทบาททางสังคม เศรษฐกิจ พวกเราจึงเรียกร้องให้ทุกรัฐบาลทั่วโลกเป็นนักปฏิบัติจริง และส่งเสริมการอภัยกัน โดยช่วยกันยุติความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธโลกต้องนำเอาการส่งเสริมเรื่องสันติภาพและความปรองดองไปใช้ทั่วโลก โดยประยุกต์คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาเรื่องการให้อภัย อหิงสา กรุณาและขันติธรรมอย่างชาญฉลาด และทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยควบคุมธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด, มีความเกลียดชังกัน และความไม่รู้ เพื่อสร้างสังคมที่บูชาคุณค่าของมนุษย์

3.ตระหนักถึงการเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนของอุบัติภัยด้านสิ่งแวดล้อมในโลก พวกเราจึงส่งเสริมให้ตระหนักรู้ถึงการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติตามหลักปฏิจจสมุปบาทให้มากยิ่งขึ้น

4.ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ในสังคม ทั้งจิตใจ จริยธรรม และสติปัญญา พวกเราจึงส่งเสริมให้มีการปฏิบัติกรรมฐานซึ่งพระพุทธศาสนาทุกนิกายได้อนุรักษ์สืบทอดมาอย่างหลากหลาย

5.ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตั้งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ตามที่มีการประชุมโต๊ะกลมที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสำหรับชาวพุทธโลก ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐมให้เป็นจริงขึ้นมา

6.พวกเราจึงยินดีต่อการบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ของสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ที่ใช้หัวข้อการประชุมว่าด้วยพุทธปรัชญาและแนวทางการปฏิบัติ โดยอาศัยกระบวนการของการปรึกษา การอภิปราย และความร่วมมือกันทางด้านวิชาการ

7.พวกเราจะธำรงรักษาและส่งเสริมความก้าวหน้าของโครงการสำคัญ 2 โครงการ เนื่องในวันวิสาขบูชาวันสำคัญของโลก คือโครงการพระไตรปิฎกฉบับสากล และโครงการจัดทำสหบรรณานุกรมตำราทางพระพุทธศาสนา

8.พวกเราขอยกย่องความร่วมมือกันของยูเนสโก รัฐบาลเนปาล ในการเสนอมาตรการดูแล และลดมลภาวะทางอากาศ ณ ลุมพินีสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น