มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอ BTS ทบทวนค่ามัดจำบัตร Rabbit Carrot เสนอลูกค้าเก่าไม่ควรจ่ายค่ามัดจำบัตร ค่าธรรมเนียมลูกค้าใหม่ควรอยู่ที่ 30 บาท ส่วนต่อขยายคิดค่าโดยสารเป็นสถานี ไม่คิดราคาเหมารวม แนะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการลดการร้องเรียน
วันนี้ (1 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดประชุมหาทางออกกรณีผู้บริโภคร้องเรียนการใช้บัตร โดยสารบีทีเอส แบบ Smart Pass ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส แจ้งประกาศหยุดจำหน่ายบัตรโดยสาร บีทีเอส แบบ Smart Pass ทุกประเภท โดยให้ผู้ใช้บริการที่ถือบัตร Smart Pass ทุกประเภท ให้นำบัตรเดิมมาเปลี่ยนเป็น บัตร Rabbit Carrot เพื่อใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสแทน โดยในการเปลี่ยนบัตรมีเงื่อนไขให้ผู้ถือบัตรต้องจ่ายเงินค่ามัดจำบัตรจำนวน 50 บาท โดยเชิญกระทรวงคมนาคม บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าร่วมประชุมหาทางออก
นายอาทิตย์ ประสานสุข จากบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตบัตร Rabbit Carrot ของ BTS กล่าวว่า บัตรโดยสารของ BTS มีสองแบบ นั่นคือ บัตร Smart Pass แบบรายเดือน และบัตร Smart Pass แบบเติมเงิน ปัจจุบัน มีผู้ใช้บัตร Smart Pass จำนวนกว่า 900,000 ใบ และเปลี่ยนไปใช้ บัตร Rabbit Carrot แล้ว 100,000 ใบ
“บัตร Smart Pass แบบรายเดือน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 30 บาท ไม่คิดค่ามัดจำบัตร ส่วนบัตร Smart Pass แบบเติมเงินนั้นเก็บเมื่อตอนซื้อบัตรเป็นเงิน 60 บาท แบ่งออกเป็นค่าธรรมเนียมการออกบัตร 30 บาท และมัดจำบัตรอีก 30 บาท ซึ่งมีรายละเอียดแจ้งไว้ทุกสถานี และเมื่อเปลี่ยนมาเป็นบัตร Rabbit Carrot ซึ่งพยายามจะยกระดับการบริการการขนส่ง “บัตรเดียว” สามารถใช้บริการได้ทั้ง รถไฟใต้ดิน และส่วนต่อขยายรถไฟ จึงเปลี่ยนบัตรเพื่อเตรียมให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งบัตร Rabbit Carrot จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตร จะเก็บเพียงค่ามัดจำ 50 บาท เท่านั้น
ซึ่งผู้ที่ใช้บัตร Smart Pass แบบเติมเงิน สามารถมาเปลี่ยนเป็นบัตร Rabbit Carrot ได้ และใช้งานตามจำนวนเที่ยวที่เหลือได้ โดยต้องจ่ายค่ามัดจำบัตร 50 บาท ส่วนลูกค้าใหม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการออกบัตร 50 บาท” นายอาทิตย์ กล่าว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายบัตร Smart Pass เลยว่า เงิน 60 บาทของบัตร Smart Pass ประเภท เติมเงินนั้นแบ่งออกเป็น ค่าธรรมเนียมการออกบัตรและค่ามัดจำบัตร ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดตลอดมาว่าทั้งหมด คือ ค่ามัดจำบัตร ซึ่งเมื่อเลิกใช้บัตรแล้วก็ต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภค
“การกระทำแบบนี้ถือว่า BTS ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่อง “ค่าออกบัตร” เพราะผู้บริโภคมีความเข้าใจว่าเป็น “ค่ามัดจำบัตร” ทาง BTS ก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์หรือประกาศที่สร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ต้องให้ข้อมูลผู้บริโภคด้วยไม่ใช่ใช้คำว่าค่ามัดจำอย่างเดียว” นางสาวสารี กล่าว
พร้อมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและยื่นข้อเสนอให้ทางกรุงเทพมหานคร เข้ามาจัดการและดูแลการเปลี่ยนจาก บัตร Smart Pass มาเป็น บัตร Rabbit Carrot ในเรื่องนี้ นั่นคือ 1) ลูกค้าเก่าไม่ควรเสียค่าธรรมเนียม เพราะจ่ายค่าธรรมเนียม บัตร Smart Pass ไปแล้ว 2) ลูกค้าใหม่ก็ควรที่จะเก็บค่ามัดจำบัตรเพียง 30 บาทเท่าเดิม ไม่ควรจะเก็บ 50 บาท 3) กรณีลูกค้าที่ไม่ได้ใช้ประจำ ให้ไปทบทวนเรื่องค่าธรรมเนียม และค่ามัดจำบัตรว่าควรจะเป็นเท่าไร 4) กรณีส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร ป้ายที่เพิ่มมา 5 สถานี มีการคิดเพิ่ม 15 บาท คนที่ขึ้นไปเพียงสถานีเดียว ก็ควรจะเก็บเป็นสถานีไป ไม่ควรคิดราคาเหมารวม เพราะเรื่องนี้ถือเป็นบริการสาธารณะ และ 5) ในเรื่องการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่กระทบกับผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญปี 40 และ รัฐธรรมนูญปี 50 ได้กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ซึ่งต้องมาขอความเห็นก่อนที่จะมีมาตรการต่างๆออกไป ควรจะมีส่วนร่วมของผู้บริโภคตั้งแต่แรก ซึ่งจะช่วยลดข้อร้องเรียนต่างๆ ได้
นายอรวิทย์ เหมะจุฑา รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าจะรับข้อเสนอเข้าไป พิจารณาและเป็นตัวกลางประงานส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการประชุมเพื่อหาแนวแก้ปัญหาโดยไม่เอาเปรียบผู้บริโภค