xs
xsm
sm
md
lg

หลักสูตร EP-Mini EP อาชีวะขายดี เด็กแห่สมัครเต็มทุกแห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาชีวะ โว หลักสูตร EP และ Mini EP ขายดี ผู้ปกครองนักเรียนไม่หวั่นค่าเทอม 25,000 บาท แห่สมัครเข้าเรียนจนเต็มเกือบทุกแห่ง ชี้บางแห่งต้องเปิดห้องเพิ่ม

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายให้วิทยาลัยในสังกัดเปิดหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ หรือ English Program (EP) และหลักสูตร Mini EP ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 นั้น ขณะนี้จากการติดตามผล พบว่า ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เกือบทุกวิทยาลัยมีเด็กสมัครเข้าเรียนจนเต็มแผนการรับนักศึกษาที่วางไว้ โดยมีวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตร EP จำนวน 5 วิทยาลัย และหลักสูตร Mini EP จำนวน 27 วิทยาลัย บางวิทยาลัยต้องตัดสินใจเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มอีกห้อง เพราะมีเด็กสนใจสมัครเรียนเกินแผนรับจำนวนมาก เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา แผนเดิมจะรับ 2 ห้อง ต้องขยายเป็น 3 ห้อง ส่วนจำนวนนักเรียนต่อห้องกำหนดไว้ที่ 20 คน

นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม วิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ ยังไม่สามารถเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาจากนักศึกษาได้ เพราะร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดหลักสูตร EP และ Mini EP ในวิทยาลัยอาชีวศึกษานั้น ยังไม่ได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (สธ.) ลงนาม เพราะต้องรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อนว่า การจัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นภาษาอังกฤษนั้น สามารถเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะตามกฎหมายแล้ว รัฐต้องจัดบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี แต่การเปิดหลักสูตร EP และ Mini EP ของ สอศ.นั้น อยู่ในหลักการและรูปแบบเดียวกับหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะฉะนั้น จึงไม่น่ามีปัญหา และเมื่อ รมว.ศธ. ลงนามในร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวแล้ว วิทยาลัยจึงจะสามารถเก็บเงินบำรุงการศึกษาจากนักศึกษาได้ โดยอัตราค่าเทอมของหลักสูตร EP ระดับ ปวช.อยู่ที่ 25,000 บาท และ Mini EP อยู่ที่ 17,500 ถือว่า ถูกสุดในท้องตลาด ส่วนระดับ ปวส.อยู่ระหว่างกำหนดอัตราค่าเทอมอยู่

ผู้ปกครองส่วนใหญ่เต็มใจที่จะเสียค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้เพราะเข้าใจดีว่า การจัดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าหลักสูตรทั่วไป อย่างไรก็ตาม นโยบายเปิดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมพร้อมนักศึกษา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน ขณะเดียวกัน สถานประกอบการเองก็มีเสียงเรียกร้องให้สอศ.พัฒนาทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศให้นักศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะทักษะด้านนี้ของนักศึกษาอาชีวศึกษาค่อนข้างอ่อน” เลขาธิการ กอศ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น