เปลี่ยนความต่างของ “ชนชั้น-เชื้อชาติ” ให้เป็นมิตรภาพ
คู่มือนักพัฒนาสังคมของ “สมพงค์ สระแก้ว”
โดย จารยา บุญมาก
ภาพของเด็กๆ ที่วิ่งห้อมล้อม และโอบกอดชายร่างผอม ไว้หนวดเครา ผมยาว พร้อมด้วยรอยยิ้มที่แสนอบอุ่น มักเกิดขึ้นเสมอในเวลาที่ลูกหลานของแรงงานชาวพม่า กัมพูชา และลาว ได้พบปะกับ “ครูตุ่น” สมพงค์ สระแก้ว แม้ว่าสไตล์การแต่งตัวของเขาจะดูออกแนวเพื่อชีวิต และรักความเป็นส่วนตัวเกินกว่าที่หลายคนจะเชื่อว่า เขา คือ ครูของเด็กๆ ก็ตาม
ภายในบุคลิกที่เซอร์ และดูเรียบง่ายของ สมพงค์ หรือพี่ตุ่น ที่หลายคนรู้จัก แท้จริงแล้วล้วนแปดเปื้อนประสบการณ์ที่แสนจะยุ่งยากและต้องต่อสู้ในหลายๆเรื่อง เริ่มที่การนั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ( Labour Right Promotion Network Foundation : LPN ) อันเป็นองค์การพัฒนาเอกชน ซึ่งเป็นงานในปัจจุบันของเขา
ด้วยอุดมการณ์ ความคิด ที่เรียกได้ว่า 99 % ทุ่มเทไปกับงานเพื่อสังคม วันนี้เขาจึงกล้าปฏิญาณรักกับงานดังกล่าวด้วยความตั้งใจจริงว่า “ไม่อาจเบนชีวิตไปสายอื่นได้อีกแล้ว” และเหตุผลดังกล่าวทำให้เขากลายเป็นผู้บริหาร “เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน” หรือ LPN ซึ่งก่อตั้งในปี 2547 โดยได้รับความร่วมมือจากเพื่อนรุ่นน้องที่สนใจงานในรูปแบบเดียวกัน โดยก่อตั้งขึ้นในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิด้านมนุษยชนของแรงงานต่างชาติ ทั้งพม่า กัมพูชา และลาว
“การเกิดขึ้นของเครือข่ายดังกล่าว มักถูกมองด้วยมายาคติว่า ผมทำเพื่อคนพม่า ซึ่งคนไทยหลายคนมองว่าเป็นการช่วยเหลือกลุ่มที่เข้ามาแย่งผลประโยชน์ของไทย แต่จริงๆแล้วผมเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แค่บังเอิญว่าสมุทรสาคร ในจังหวัดนี้มีจำนวนมาก มีเด็ก ที่เกิดจากพ่อแม่แรงงานก็มากมาย ปัญหาคือ ไม่ได้รับโอกาสการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา สุขภาพ และไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดี หรือถูกเลือกปฏิบัติจากการให้บริการของรัฐ และเหตุผลที่เป็นอย่างนั้นเพราะ พวกเขาเป็นพม่า ไม่ใช่คนไทย กลุ่มค้ามนุษย์ที่เป็นทั้งนายหน้า หรือ นาจ้าง และแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐบางกลุ่มจึงละเมิดสิทธิสารพัด แบบไร้จริยธรรมและมนุษยธรรม” สมพงค์ อธิบาย
8 ปี กว่า ที่ LPN ก่อตัวขึ้นผ่านร้อน ผ่านหนาวการมามาก ทั้งกลุ่มดูหมิ่นเหยียดหยาม สารพัด แต่สมพงค์ เชื่อว่า ทุกอย่างจะสวยงามขึ้น หากทุกคนได้รับโอกาสและไว้วางใจ และส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดทอนมายาคติขิงคนในสังคมได้ ก็คือ “การศึกษา” เขาจึงเริ่มให้โอกาสเด็กๆบุตรแรงงานต่างชาติด้วยการสอนเด็กกลุ่มเล็กๆ 10-15 คน อายุระหว่าง 5-15 ปี เพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้พวกเขาพ้นขีดอันตรายจากกระบวนการค้ามนุษย์และการเอาเปรียบสารพัด ทั้งเรื่องการคุกคามทางเพศ การกดค่าแรง การเบี้ยวค้าจ้าง และการทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีเด็กๆ แวะเวียนมาเรียนอยู่เรื่อยๆ ระยะหลังพอผู้ปกครองเห็นคุณค่าการเรียน การสอนก็เริ่มเข้ามาลงทะเบียนเป็นแรงงานในระบบมากขึ้น และร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการศึกษาทุกรูปแบบ ซึ่งทางเครือข่ายฯ จะออกจัดกิจกรรมโมบายการศึกษา ทุกๆ 1 เดือนเพื่อเชิญชวนเกๆเข้ามาเรียนในเครือข่ายฯ ถือได้ว่าเป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยฉุดเด็กจาก การถูกหลอกใช้แรงงานด้วย
“คนรอบข้างในสังคมที่มีทัศนคติเชิงลบต่อแรงงานข้ามชาติ เช่น คนไทยบางคนมองว่า “ทำไมต้องไปช่วยแรงงานข้ามชาติ ช่วยเด็กๆ เหล่า เดี๋ยวโตไปมันจะก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง” หรือ “เดี๋ยวนี้เมืองสมุทรสาคร เป็นดงพม่า หรือ Myanmar Town ไปหมดแล้ว หากเขารวมตัวกันหยิบมีดคนละเล่มมาที่ศาลากลางจังหวัด เขาคงยึดบ้านเราได้แน่ๆ เพราะพวกเขามีมากกว่า 2 แสนคน ” สมพงค์เปรียบเทียบห้วนๆ ทั้งที่ความจริงรู้ดีว่าไม่มีทางเป็นไปได้
ดังนั้นสมพงค์ จึงเชื่อว่า การเปลี่ยนมุมมองทางความคิด จะช่วยเพิ่มมิตรได้ไม่ยาก เพื่อที่อย่างน้อยในอนาคต แรงงานต่างชาติก็จะได้อยู่เป็นกำลังสำคัญของไทยที่คนไทยมองว่าเป็นงานระดับรากหญ้า และน้อยคนจะเลือกประกอบอาชีพในชนชั้นดังกล่าว และเชื่อว่าในอนาคต ต่อให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมอาเซียนแล้วก็ตาม ความต้องการด้านแรงงานก็ยังมีอยู่ ความคิดเชิงรุกใบแบบสร้างความสัมพันธ์เหมือนพี่น้อง ระหว่างแรงงานต่างชาติ กับ คนไทย จึงไม่เคยลบเลือนไปจากหัวคิดของสมพงค์
“ 8 ปีมานี้ผมได้พุดคุยในที่ประชุมกับพี่น้องคนไทยในชุมชน โดยย้ำว่า คนไทยไม่จำเป็นต้องถึงกับปรนเปรอทุกอย่างเพื่อพวกเขา หรือ เราต้องดูแลเขา ให้มีสิทธิการรักษาพยาบาลที่เท่ากันก็ได้ แค่ปฏิบัติต่อเขาเป็น “คน” เหมือนกับเราที่มีความต้องการปัจจัยสี่ การดำรงอยู่ที่ปลอดภัย ก็เท่านั้น ความสุขก็เกิดกับทุกฝ่ายคนไทยมีแรงงานคอยสร้างอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน ส่วนพวกเขาก็มีงาน ต้องกิน ต้องอยู่ มันคือปัจจัยสี่ ที่ทุกคน ทุกสัญชาติต้องมี ”
ปัจจุบัน LPN สามารถพัฒนาการศึกษาให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นบุตรหลานของแรงงานต่างชาติได้ศึกษาต่อและทำงานร่วมกับโรงเรียนของรัฐ ไม่น้อยกว่า 600 คน และผ่านการเข้ามาเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบไม่ต่ำกว่า 3,000- 4,000 คน โดยทุกคนล้วนประกอบอาชีพและตอบแทนสังคมไทยตามกำลังที่มี
และนี่ก็คือผลผลิตจากความพยายามของนักพัฒนาสังคมตัวจริง ที่เปลี่ยนความต่างให้เป็นมิตรภาพที่ดีได้ และเขาเชื่อว่า หากทุกคนลดมายาคติได้ ก็จะพบกับความเท่าเทียมในทุกชนชั้นที่ ทุกคนพยายามเรียกร้องอยู่ในตอนนี้